สรุปทริปคันไซ
Day 1: Kobe ตอน 1 และ ตอน 2 (Herb Garden/ Ijinkan Kitano / อันปังแมนมิวเซียม /Tetsujin)
Day 2: Himeiji Castle / ปราสาทฮิเมะจิ
Day 3: Arima Onsen / แช่ออนเซ็นที่อาริมะ
Day 4: Hiroshima / เมืองฮิโรชิม่า
Day 5: เกาะ Miyajima / เกาะมิยาจิม่า
Day 6: Matsuyama, Ehime / มัตสึยาม่า, เอะฮิเมะ
และแล้วก็มาถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของทริปคันไซของเรา …แต๊นนนนน…. Dogon Onsen!!
แต่ก่อนจะเข้าเนื้อความ ขอพูดถึงสิ่งนี้เสียหน่อย…
บริการขนส่งกระเป๋าของทาคิวบิน จากโรงแรมสู่โรงแรมในญี่ปุ่น
มันคือบริการที่หลายๆ คนใช้กันจนเป็นเรื่องปกติ แต่พวกเราไม่เค๊ย ไม่เคย
เพราะครั้งนึงเคยถามรายละเอียดจากพนักงานฟรอนต์ ที่อ่อนหัดภาษาอังกฤษอย่างไม่น่าจะมาทำงานโรงแรม
หรืออีกทีคือ…เอ๊ออ เรามันผิดเอง ที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ด๊ายย ฮือออ T^T
คราวนั้นเลยกลายเป็นคุยกันไม่รู้เรื่อง และทำให้จิตใต้สำนึกไม่อยากใช้บริการนี้ไป (คนมันเซนซิทีฟ)
แต่ที่คราวนี้ตัดสินใจว่า “ต้องใช้” เพราะวางแผนจะเปลี่ยนที่นอนทุกคืน ติดกัน 3 คืน
เหนื่อยจะต้องแบกไม่พอ ยังต้องเสียเวลารื้อและเก็บจัดกระเป๋าใหม่มันทุกวัน
ดังนั้นเช้าวันที่จะไปนอนค้างที่เมืองออนเซ็น เราก็แยกเสื้อผ้าสำหรับ 1 คืนออกมาใส่เป้เล็ก
ที่เหลือโยนลงกระเป๋าเดินทางขนาดกลาง 2 ใบ เข็นไปให้พนักงาน APA Matsuyama
ช่วยกรอกแบบฟอร์มส่งกระเป๋าให้ ระบุมีจุดหมายปลายทางคือ APA Okayama
(ดูเหมือนเรานี่เป็นลูกค้าที่ภักดีกับโรงแรมเครือนี้เอามากๆ ทั้งที่ไม่ใช่ญาติและไม่ได้สปอนเซอร์
แต่เธอคนนี้มีดีที่ราคาถูก…โอเคนะ?)
ปกติทุกๆ โรงแรมมาตรฐานในญี่ปุ่น จะมีแบบฟอร์มนี้ของทาร์คิวบินอยู่ที่ฟรอนต์
ถ้าไม่เห็นก็สอบถามได้เลย (ก่อนถามอย่าลืมบนบานขอให้พนักงานคนนั้นพูดอังกฤษได้)
เขาจะคำนวนค่าใช้จ่ายจากระยะทาง และขนาดของกระเป๋า
(ซึ่งตอนแรกนึกว่าจะใช้วิธีชั่งน้ำหนักกระเป๋า + ระยะทางเสียอีก)
ใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที สลับกับการที่พนักงานเดินไปเดินมา โดยไม่มีแขกคนอื่นขอเช็คอิน-เอาท์เลย
เขาก็บอกว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ค่าบริการ 2824 เยนนะค๊าาาา (ก็คนญี่ปุ่นชอบพูดเสียงยาวตอนท้าย)
คุณบูได้ยินแล้วแทบตาถลน …ไม่คิดว่าอะไรจะราบลื่นขนาดนั้น
ถึงกับขอเช็กแบบฟอร์มซ้ำ (แม้จะอ่านไม่ค่อยออก)
สรุปว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี และกระเป๋าก็ไปถึงจุดหมายก่อนเราด้วย
และกับราคานี้ เราว่าถูกอ่ะ (ตอนแรกนึกว่าเป็นหลักพันบาท)
เมื่อเทียบกับความอิสระยิ่งกว่าสายลมบนขุนเขาเหลียงซานที่เราจะได้รับในการเดินทาง
ดังนั้นจากนี้ต่อไป ฉันจะไม่ขนกระเป๋าข้ามเมืองเองอีกแล้ว บัยยยยยยยยย!
เดินทางไป Dogo Onsen กับคุณ Botchan!
จากตัวเมืองมัตสึยาม่า นั่งรถไฟ(แทรม)แป๊บเดียวก็สุดสายที่โดโกะออนเซ็นแล้ว (ห้ามหลับ)
เราพากันเช็คตารางเวลารถตรงสถานีกลางถนนนั่นแหละ
ตอนไปถึงพบว่ามีคุณลุงคุณป้าออๆ กันอยู่เต็ม ทั้งที่รถเพิ่งผ่านไปขบวนนึง (ขบวนนั้นฉันพลาด T^T)
สักพักไม่เกิน 3 นาทีถึงเข้าใจ ว่าคุณลุงคุณป้าเขารอจะขึ้นรถไฟขบวน Botchan นี่เอง!!!!
Botchan คือรถไฟสายแรกในเกาะ Shikoku สร้างสมัยศตวรรษที่ 18
ปัจจุบันวิ่งด้วยเครื่องจักรดีเซลที่ทำหน้าตาเลียนแบบระบบไอน้ำสมัยก่อน (แต่ตัวรถไฟเก่าจริง)
ขนาดตู้โดยสารเล็กมากถึงขนาดบางคนเรียกว่าเป็น “รถไฟของเล่น”
กระทั่งนักเขียนญี่ปุ่นชื่อดัง Natsume Soseki ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Botchan (ชื่อเรื่อง Botchan)
จนทำให้รถไฟขบวนนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ก็ยังเรียกมันว่า “รถไฟกล่องไม้ขีด”
ถ้าไปถึง Dogo Onsen แล้วจะรู้ว่า คนที่นี่ให้ความสำคัญกับคุณนักเขียนโซเซกิคนนี้มาก
หนึ่งเพราะเขารักเมืองออนเซ็นแห่งนี้และมาบ่อย ถึงขนาดนำไปเขียนหนังสือได้เป็นเล่มๆ (ก็ Botchan นั่นไง)
ที่ Bath House ก็มีห้องส่วนตัวให้เป็นพิเศษ แถมตามถนนหนทาง แหล่งท่องเที่ยว
และสถานีรถไฟ ก็จะมีกล่อง Stamp Box ที่ใส่ตัวปั๊มกลอนไฮกุที่คัดมาจากหนังสือ Botchan
ซึ่งพูดพาดพิงถึงสถานที่แห่งนั้นๆ ให้เราปั๊มด้วย (อยากอ่านภาษาญี่ปุ่นออกมาขึ้นมา!)
อันที่จริงรถไฟสายนี้ถูกยกเลิกใช้ตั้งแต่ปี 1931 เพราะมีรถไฟสายใหม่ที่ทันสมัยกว่า
แต่ทางมัตสึยาม่าอยากอนุรักษ์คุณบอตจังไว้ ในฐานะที่มันคือรถไฟสายแรก
และถูกนำไปเป็นชื่อหนังสือของคุณโซเซกิจนใครต่อใครรู้จัก และความพยายามของเขาก็สำเร็จ!
ขบวนรถไฟที่ถูกเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดีเซล เริ่มวิ่งให้บริการอีกครั้งในปี 2001
โดยจะวิ่ง 2 สาย รวม 14 เที่ยว/วัน (ไปอัพเดตข้อมูลของรถไฟเที่ยว Botchan ที่สถานีกันอีกทีนะ)
ดังนั้นแปลว่า…ฉันโชคดีมากกกก ที่ไปยืนอยู่ตรงสถานีนั้นตอนคุณ botchan จะผ่านพอดี๊!!
Yahooooo!




ถนนช็อปปิ้งใน Dogo Onsen
เมือง Dogo เล็กเท่า…เท่าอะไรดีอะ เท่าขี้แมว?
เอาเถอะ นั่นแหละ เอาเป็นว่ามันเล็กจริงๆ
มีแค่โรงอาบน้ำสาธารณะ 1 แห่งซึ่งเป็นเหมือนศูนย์กลางจักรวาล
รายรอบด้วยถนนเส้นหลัก 2 สาย มีบ้านเกาะตัวกันอยู่อย่างหลวมๆ ในฐานะ Resort Town ที่ดี
และมี Dogo Park เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่หย่อนใจของคนในเมือง ไม่ห่างจากถนนช็อปปิงนัก
มันคือ A Must เลยนะ ไอ่ถนนช็อปปิงเนี่ย เรียกว่าอยู่เคียงคู่กับเมืองออนเซ็นแบบขาดกันไม่ได้
ถ้ามีออนเซ็นแล้วไม่มีถนนช็อปปิ้งถือว่าผิดในทุกแง่มุม ไม่ผ่านมาตรฐานการเป็นเมืองออนเซ็นที่ดี
ดังนั้นเราในฐานะนั่นท่องเที่ยวที่ดี ก็ต้องเดินดูให้ทั่วๆ (แฮ่…)
ทางเข้าก็อยู่ติดกับสถานีรถไฟนั่นแล ร้านรวงที่นี่มีเยอะแยะ ขายทั้งของกินเล่นหลายอย่าง
ที่เราอี๋ที่สุดคือข้าวพองสดปิ้ง (แหยะมาก) นอกนั้นมีของแห้งสารพัดรูปแบบ
ซีอิ๊ว (โชยุ) ย่านนี้เขาจะมีกลิ่นคาวเป็นพิเศษ แต่ก็หอมในแบบฉบับของมัน บางร้านแพคเก็จดอกๆ น่ารัก
มีร้านขายของที่ระลึกของสตูฯ Ghibli อยู่ตรงนี้สาขานึงด้วย ของครบ ของเพียบ!
ขณะที่อีกร้านนึงก็มีพวกมัคมูมิน และของที่ระลึกพื้นถิ่นอยู่ปนๆ กัน ลองเดินเข้าไปดู
ร้าน 101 Factory ก็มาเปิดสาขานึงตรงนี้ ที่พิเศษคือเขาให้เราเลือกส้มจากกะบะ
ผสมกันหลายสายพันธุ์ แล้วเอาไปให้เขาคั้นน้ำสดๆ ตรงนั้นเลย…แซบมากค่ะพี่น้อง!
คืออารมณ์มันอร่อยสดธรรมดาแหละ แต่ความสนุกอยู่ตรงการได้เลือกส้มเองด้วยนั่นแหละ
(สรุปคือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ที่เราตกหลุมพรางอย่างสม่ำเสมอ และตลอดมา)
หลังจากเดินวนไป เวียนมาสองสามรอบ ก็ได้สาหร่ายแห้งและโชยุพรีเมี่ยมติดกระเป๋าเพิ่มเติม
การเดินเล่นใน Dogo เป็นอะไรที่ชิลล์มาก ประชากรส่วนใหญ่คือลุงป้าที่มาอาบน้ำแร่ใน Public Bath House
พวกเขาจะสะพายถุงใส่ผ้าขนหนูเล็กๆ เดินทัศนาบ้านเมืองแบบไม่รีบร้อน
พวกเราก็เลยเดินเนิบๆ ตามไปด้วย ขอขอบพระคุณคุณตาคุณยายทั้งหลาย
ที่ช่วยปรับสปีด ลดเกียร์เด็กน้อยที่มาจากเมืองคนแยะๆ อย่างหนู จากเกียร์ 4 ตบมาอยู่ที่เกียร์ 1 นะคะ








Dogo Onsen
และตรงปลายสุดของถนนสายช็อปปิง ก็คือ Public Bath House
อันเป็นต้นแบบของ Bath House ใน Spirited Away!! (จะตื่นเต้นอะไรขนาดนี้?!)
พวกเรารีบพุ่งเข้าไป คุณบูอ่านรายละเอียดค่าใช้จ่าย (ไม่ออก)
ด้านหน้าเขามีหนุ่มๆ ใส่ชุดเหมือนในเรื่องซามูไรสายรุ้ง ของอาดาจิ มิตสึรุ
คอยบริการรถลากด้วย กรี๊ดดดด ได้บรรยากาศอันเก่าแก่มาก
จริงๆ แล้ว Dogo เป็นหนึ่งในเมืองออนเซ็นเก่าแก่มีประวัติศาสตร์มานานกว่าพันปี ติดชาร์ตความแก่อันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นเลย
โรงอาบน้ำ 3 ชั้นแห่งนี้สร้างขึ้นสมัยปลายศตวรรษที่ 18 บัดนี้จึงมีอายุร้อยกว่าปีเศษแล้ว
ปัจจุบันอยู่ใต้การดูแลของเทศบาลเมืองโดโกะ
ด้านนอกทำจากไม้สีเข้ม สถาปัตยกรรมถอยหลังไปเป็นร้อยปีอย่างเห็นได้ชัด
ขัดกับภายในที่ใช้วัสดุทานทนต่อไอน้ำและความชื้น เรียบง่ายและถึกที่สุดเท่าที่จะนึกได้
แต่ให้กระไอความขลัง ความโบราณ ความเก่าแก่ ด้วยบันไดไม้ทั้งสูงและชัน
ซอกหลืบต่างๆ ที่สลับซับซ้อนจนกลัวว่าเดินคนเดียวแล้วจะหลง
การจะลงออนเซ็น ให้ซื้อตั๋วที่ตู้ด้านนอก เขามีให้เลือกว่าจะลงบ่อไหน แบบเล็ก แบบใหญ่ แบบส่วนตัว
คือเดาเอาอ่ะนะ อ่านไม่ออกหรอก สุดท้ายเราก็เลือกจากราคา
“ไหนๆ ก็มาแล้ว จัดเต็มเลยค่ะโอบ้าจัง หนูขอตั๋วแพงสุด (1550 เยน)”
ชั้นล่างด้านนอกมีล็อกเกอร์ให้บริการฟรี ถ้าใครกลัวทรัพย์สินไม่ปลอดภัย
จะใช้ล็อกเกอร์แบบหยอดเหรียญด้านในก็ได้
พวกเราอ่ะ? ใช้ของฟรีสิ เขาใช้กันทั้งนั้น
พอเข้าไปถึงรู้ ว่านี่คือราคาแพ็คเกจ มีห้องส่วนตัวให้สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้า
มีบริการชาและดังโงะหลังแช่น้ำ มีผ้าเช็ดเหงื่อผืนเล็ก่และยูกาตะให้ด้วย
ที่พิเศษคือบริการพาทัวร์ Yushinden หรือห้องและบ่อที่ราชวงศ์เคยใช้งาน (มีเอกสารภาษาอังกฤษอธิบาย)
อาจเพราะเราไปตอนกลางคืนด้วย บรรยากาศมันเลยมาคุพุพองอย่างบอกไม่ถูก
ห้องที่ราชวงศ์ใช้ไม่มีหน้าต่าง แถมยังเล็กและทางเดินซับซ้อน เพดานต๊ำต่ำ บันไดทั้งชันและแคบ ไฟก็สลัว
เลยพยายามอยู่ใกล้คุณบูไว้ มีอะไรฉันจะได้กระโดดเกาะหลังนางได้
ทัวร์สั้นๆ ใช้เวลาแค่ไม่ถึง 10 นาที จากนั้นพนักงานจะพาไปที่บ่อพิเศษแยกหญิงชาย (เฉพาะคนจ่ายแพงสุด)
เราโชคดีที่ไปตอนไม่มีคน เลยรีบสลัดยูตากะออกจากร่าง เอาน้ำราดล้างตัว และลงแช่ในบ่อเล็กๆ อย่างว่องไว
ห้องนี้ธรรมดามากจนไม่มีอะไรให้พูดถึง เป็นคอนกรีตธรรมดาๆ
อุณหภูมิน้ำไม่ร้อนจัด เลยแช่ได้นาน พอทนไม่ค่อยไหวก็ลุกนั่งขอบบ่อเสียแพบ
สักพักค่อยไหลลงแช่น้ำแร่ต่อ คือกะแช่ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพราะรู้ว่าบูจะต้องแช่นานแน่
การปล่อยคุณบูไปแช่ออนเซ็น เปรียบเหมือนการปล่อยลิงเข้าป่ากล้วยหอมที่สุกงอมเต็มที่
นางไม่มีวันจะยอมออกมาจนกว่าจะแช่น้ำจนตัวแดงเป็นกุ้งล็อบสเตอร์โน่นแหละ
ผ่านไปเกือบครึ่งชม. ก็ทนความร้อนไม่ไหว (ประจวบกับมีคนเข้ามา) เลยลุกขึ้นใส่ยูกาตะ
ออกไปยืนหมดแรงผึ่งพัดลมอยู่ราว 5 นาทีได้ (แช่น้ำนานๆ แล้วเรี่ยวแรงหดหายอย่างประหลาด)
โผเผขึ้นห้องส่วนตัวที่ชั้น 3 แต่เจอคุณป้าเฝ้าปากทางสกัดดาวรุ่งเสียก่อน
“รีบขึ้นมาทำไม้ ลงไปแช่บ่อรวมที่ชั้นล่างก่อนสิ เอาให้ครบๆ” (ป้าพูดอังกฤษได้นิโหน่ย)
ด้วยกลัวป้าจะเสียใจ เลยโผเผเดินลงมาอีกรอบ แม้ทางเดินจะซับซ้อน
แต่มีลุงป้าอยู่ตามมุมคอยแนะทางให้ตลอด (ด้วยการผายมือ)
เราโผล่ลงไปด้านล่าง พบว่าเป็นห้องอาบน้ำแยกหญิงชายเหมือนกัน
หน้าห้องมีแคตาล็อกแบบสอดรูป เป็นภาพจากหนังสือ spirited away เลยยืนเปิดดูอยู่พักนึง
ก่อนชิ่งเข้าไปในห้องอาบน้ำ ยื่นหน้าเข้าไปดู โห…บ่อข้างล่างนี่ใหญ่มาก
เหมือนห้องอาบน้ำโรมันนิดๆ ด้วยเพราะตรงกลางมีรูปปั้นเทพีอยู่ (ทำไม??)
ถัดจากบ่อใหญ่นี้ก็ยังมีทางเข้าบ่อเล็กลักษณะอื่นๆ อีก คนแช่พอมีแต่ไม่แยะมาก
แต่สังขารไม่ไหวแล้วอ่ะ คือวินาทีนั้นนี่หมดแรงตาปรือ เพราะพยายามแช่รอคุณบูอยู่นานแต่แรก
เลยตัดสินใจเดินขึ้นห้อง แล้วนอนแผ่มันบนเสื่อตาตามิเอาแรง
สักพักคุณป้าก็เคาะประตู เอาน้ำชากับดังโงะมาให้ …แผลบบบบ ดังโงะถูกกำจัดไป 1 ลูก
นั่นแหละ ถึงค่อยมีแรงลุกออกไปดูที่ระเบียง…คืนนั้นเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวงพอดี
มีแสงนวลๆ อาบหลังคาโรงอาบน้ำ ห้องเราอยู่บนชั้น 3 ทำให้เห็นภาพรวมจากมุมสูง
บรรยากาศมันอดีตย้อนยุคมาก เมื่อรวมกับความเงียบสงบ
และไอน้ำจากหม้อต้มที่พวยพ่นออกมาตามจุดต่างๆของโรงอาบน้ำ
เลยรู้สึกเหมือนถูกอดีตสูบ ตุ๊ต๊ะเอาว่าฉันคือคุณหนูที่ออกมายืนรอคนรักตรงระเบียง (ก็ว่าไป)
นี่ถ้ามีเสียงหมาหอนมาเสริมทัพซะหน่อย คงกู่ไม่กลับละ
สักพักล็อบสเตอร์ตัวแดงๆ ก็ลอยกลับมาที่ห้อง จัดการดังโงะส่วนของเราไปด้วยอย่างไม่ถามไถ่
ก่อนจะเล่าว่า “ไปแช่มา 3 บ่อเลย หนุกมาก บางบ่อร้อนจัด แต่บรรยากาศมันเก่าขลังดี”
ก่อนกลับพวกเราเดินไปดูห้องที่ทางโรงอาบน้ำจัดให้คุณนักเขียนโซเซกิ ซึ่งอยู่บนชั้น 3 ใกล้กัน
(เพราะโอบ้าจังออกแรงเชียร์ให้ไปดู กลัวแกไม่ให้กลับถ้าขัดขืน)
เป็นห้องที่เหมาะกับการส่องคนมาก เพราะอยู่ตรงมุมด้านหน้าโรงอาบน้ำพอดี
เขาบอกว่าสมัยก่อนตอนคุณโซเซกิมาเป็นครูอยู่ใกล้ๆ แถบนี้ ก็แวะมาแช่ออนเซ็นเป็นประจำ











Dogo Park
เป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวหลักของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ การจะเดินขึ้นไปดูวิวที่จุดสูงสุดไม่ทำให้เราเหงื่อตกได้
(เพราะต้นไม้แน่นมาก อากาศเลยเย็นหยิว) ระหว่างทางเจอเด็กกลุ่มเล็กๆ นั่งเล่นเกมนินเทนโด้อย่างเมามัน
ไม่รู้หนีโรงเรียนมารึเปล่าเนี่ย ผู้ปกครองก็ไม่มี ยังกระเปี๊ยกกันอยู่เลย….
ก็เดินไปตามทาง เรื่อยๆ เรื่อยๆ ต้นไม้แน่นมาก บางต้นใหญ่จนน่าทึ่ง
อายุของมันอาจจะดึกดำบรรพ์เท่าประวัติศาสตร์ของเมืองนับพันปีแล้วก็ได้
อากาศในสวนจึงบริสุทธิ์ระดับสูงสุด ได้ยินเสียงนกร้องจิ๊บๆ จั๊บๆ ตลอดทาง
และเมื่อเวลาผ่านไปราว 15 นาที เราก็ถึงยอดเขาเพื่อที่จะพบว่า…มองวิวด้านล่างไม่เห็น ตึ่ง!
ต้นไม้บัง…T^T


Umenoya เรียวกัง
มาถึงเรื่องที่พักกันบ้าง เรียวกังส่วนใหญ่ใน Dogo Onsen มักมีบ่อออนเซ็นให้
สมัยไปเกียวโตหนแรก เราพักเรียวกังชื่อ “อุเมะ…” อะไรสักอย่าง
แล้วเกิดความประทับใจมากกกกก ดังนั้นตอนหาเรียวกังในโดโกะออนเซ็น
แล้วเจอที่พักที่มีชื่ออุเมะ แถมมีบ่อออนเซ็นส่วนตัวให้ใช้ในเรียวกังด้วย
ก็เลยตัดสินใจเลือกมันที่นี่แหละ คิดว่าคนที่เอาคำว่าอุเมะมาตั้งเป็นชื่อเรียวกัง
จะต้องเป็นคนดีอย่างแน่นอน (ตรรกะประเทศไหน?)
และอยากโอ้อวด(เพื่อ!) ว่า…สัญชาตญานนักล่าเราก็ไม่ผิด
เพราะเรียวกังขนาด 8 ห้องแห่งนี้ มีคุณป้า 3 คนกับพี่เก้งรุ่นดึกอีก 1 คนดูแล
ทั้ง 4 ท่าน….พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย – -”
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะเรื่องนั้นใช้ภาษาร่างกายถูๆ ไถๆ ไปได้เรื่อยๆ คุณลุงคุณป้าก็น่ารัก
ความสำคัญอยู่ตรงสถานที่มีความเป็นญี่ปุ่นเทรดิชันแนลจ๋าที่สุดเท่าที่เคยพักมา
ถ้าดูเผินๆ แล้วคล้ายจะเหมือนกัน แต่รายละเอียดลึกๆ เช่นการจัดวางถ้วยถาดตรงระเบียง
ช่องลมไม้ไผ่ขัดสาน อะไรพวกนั้นน่ะ ที่ทำให้รู้สึกเซนอย่างบอกไม่ถูก
พอโผล่หน้าเข้าไปในห้อง ก็เจอชุดชงชาไซส์ L ตั้งอยู่มุมห้อง … แม่เจ้า
ในห้องนอนแบ่งเป็น 2 ส่วน มีระเบียงเล็กๆ สำหรับชมวิวพร้อมโซฟานั่งสบาย
มีอ่างล้างหน้าแยกออกมาใกล้ๆ กับที่นอน และมีห้องน้ำเล็กๆ อยู่มุมหนึ่ง
สิ่งที่ไม่มีคือ….ที่อาบน้ำ …
ที่ผ่านถึงจะพักเรียวกัง แต่ในห้องก็มักมีส่วนอาบน้ำเตรียมไว้ให้
แม้รู้ทั้งรู้ว่าเราจะไม่มีโอกาสได้ใช้เลยก็ตาม (ลงไปแช่ออนเซ็นก็อาบน้ำซักหัวมันตรงนั้นเลยทุกที)
แต่เพิ่งสังเกตว่าเรียวกังในภูมิภาคคันไซนี้ ไม่มีส่วนอาบน้ำให้เลย
ดังนั้นถ้าผู้หญิงมีปจด. ลงแช่ออนเซ็นไม่ได้ล่ะ จะอาบน้ำตรงไหน?
เดชะบุญที่เรายังไม่เคยไปออนเซ็นช่วงมีปจด. ไม่งั้นตูคงชวดความสนุกระดับ 10 อย่างน่าเสียดาย
บ่อออนเซ็นใน Umenoya มี 2 บ่อ
คือด้านนอกตัวอาคาร และในตัวอาคาร ซึ่งเขาให้ลงแช่แยกกันชายหญิง
และจะสลับบ่อให้ใช้กันคนละวัน ดังนั้นถ้าเรามาพัก 1 คืนก็จะได้ใช้บริการครบทั้ง 2 บ่อ
โดยแต่ละวันคุณป้าจะเอาป้ายคำว่า “ชาย” และ “หญิง” ไปวางไว้ด้านหน้าทางเข้า
เพื่อไม่ให้หลงเดินเข้าผิด โชคดีที่คุณบูพออ่านภาษาญี่ปุ่นออกบ้าง
ไม่งั้นคงมีโอกาสได้เข้าผิดกันบ้างล่ะ (ว้ายยยย) เพราะฟังที่ลุงเก้งพูดไม่ออกเลย
วันแรกบ่อหญิงอยู่ด้านใน เป็นบ่อหินขนาดเล็ก น้ำใสไม่มีกลิ่นเลย
ดูๆ แล้วเหมือนมันกำลังกวักมือเรียกให้เราลงแช่แช่ ให้ความร้อนละลายความตึงเครียดของไหล่
และสองขาที่เดินลุยเมืองมาหลายวันได้ผ่อนคลาย อุ๊ย…คนไม่มีด้วยวุ้ย โอกาสทอง!
เรารีบล้างตัว แล้วหย่อนเท้าวัดระดับอุณหภูมิในบ่อ …. แม่โว้ยย ร้อน@#$%^!
คือร้อนจี๋ไปรษณีย์จ๋าถึงขนาดพยายามค่อยๆ หย่อนปลายเท้าลงไปทีละนิดๆ ๆๆๆ ๆๆๆ ๆๆ
ก็ยังแช่เท้าได้คราวละไม่เกิน 5 วินาที เพราะขืนแช่นานกว่านั้นขาฉันคงสุก
ให้ความรู้สึกว่ามันเป็นบ่อชาบูอย่างบอกไม่ถูก … หลังจากเก้ๆ กังๆ อยู่เกือบ 10 นาที
ก็ยอมแพ้…หันไปอาบน้ำซักหัว แล้ววักๆ น้ำในบ่อมาแปะๆ ตัว หวังว่าวิตามินและแร่ธาตุจากน้ำจะซึมซับลงผิวบ้าง
พอวันถัดมาถึงคราคุณบูแช่บ่อด้านใน เธอก็ออกมาบอกว่าน้ำร้อนจี๋จริงๆ
ลงแช่ได้พักเดียวก็ต้องขึ้นมานั่งพักขอบบ่อ ไม่งั้นร่างอาจกลายเป็น “ชาบู๋” ได้
ส่วนบ่อด้านนอก … ขนาดบ่อใหญ่กว่า สร้างขึ้นมาเลียนแบบลักษณะแอ่งหินตามธรรมชาติ
ตีผนังด้วยไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยใบคา (มั้ง) ให้ความรู้สึกของกระท่อมออนเซ็นในป่า
แต่ด้วยความที่ยังเข็ดจากความร้อนของบ่อในตั้งแต่เมื่อวาน เลยค่อยๆ หย่อนปลายเท้าทดสอบอุณหภูมิก่อน
เออแฮะ … ค่อยยังชั่ว เพราะน้ำอุ่นกำลังสบาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อดี๊ดี
สักพักก็มีผู้หญิงอีกคนเข้ามาสมทบ เราก็ผงกหัวให้กันนิดนึงแล้วแช่ต่อกันอย่างเงียบๆ
หลังๆ ชินกับการแช่ออนเซ็นรวมกับคนอื่นไปหน้าตาเฉย
ทั้งที่ตอนแรกนี่เดินวนไปเวียนมา แบบว่ากะรอให้คุณป้าๆ ทั้งหลายออกไปก่อนถึงจะยอมถอดยูกาตะ
คือทำใจไม่ได้อ่ะ มันอาย อ๊าย อาย อ่าย อ้ายยยยยยยยยย …
แต่หลังจากสังเวียนออนเซ็นบ่อที่ 3 ก็กลายเป็นว่าชินไปซะงั้น
และขืนมามัวรอคุณป้าออกจากห้องแต่งตัวทุกครั้ง คงไม่ได้ทำอะไรเลยเป็นแน่
อาหารที่ Umenoya Ryokan
ปกติอาหารเรียวกังมักมีความพิเศษกว่าที่อื่น ในแง่ความละเมียดละไมเป็นทุนเดิม
ส่วนใหญ่เน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติ โดยเฉพาะ Local Produce หรืออาหารตามฤดูกาล
ผ่านกระบวนการปรุงแต่งแต่น้อย เน้นความอร่อยสดของวัตถุดิบมากกว่า
เรียวกังมักมีแพ็คเกจให้เลือก ว่าจะเอาแค่ที่พักกับอาหารเช้าก็ได้
หรือจะที่พักพร้อมอาหารเช้า-เย็นก็ได้เช่นกัน แต่ไหนๆ มาพักแล้วก็ลองเสียหน่อย
ไคเซกิของ Umenoya อร่อยและหลากหลาย
ช่วงนี้เขามักเสิร์ฟปลาเนื้อขาว ที่ความแน่นของเนื้อสูงเท่าเนื้อวัวเห็นจะได้
มันไม่คาวนะ แต่เคี้ยวทีเมื่อยกรามไปพักใหญ่เลยอ่ะ
ทีเด็ดที่เราชอบสุดคือ ซุปกา ที่ใส่เห็ดสน (แสนแพง) มาให้ เขาปรุงรสอร่อยจริงๆ
บีบส้มลูกจิ๋วลงไปนิด น้ำซุปก็มีมิติขึ้นอีกมาก
ส่วนอาหารเช้าเรียวกังที่เราตั้งตารอ ก็อร่อย หลากหลายและให้พลังเหมาะสำหรับการเริ่มต้นวันใหม่
จานหลักเป็นปลาแดดเดียว กับลูกชิ้นปลา มีเต้าหู้หอมฉุยกินกับขิงบด (แบ่งให้บูไปเกินครึ่ง)
ส่วนไข่ออนเซ็นแช่ในน้ำซุปโรยส้มยูซุ รสติดเปรี้ยวนิดๆ หอมส้มขึ้นจมูก อร่อยและแปลก
ปลาเล็กปลาน้อยนึ่งนิ่มๆ สลัดแฮมอร่อย ชาจีน..แต่ไม่มกีกาแฟ ฮืออออ (ไอ่กลิ่นกาแฟที่หอมฉุยไปทั้งเรียวกัง
ตอนเดินไปออนเซ็นนั่นคือป้าๆ ลุงๆ ชงดื่มกันเองสินะ T^T)
ระหว่างกินก็มีป้ามาคอยแนะนำว่า ให้ใส่โชยุตรงนี้ เต้าหู้กินแบบนี้เป็นระยะๆ
ข้าวสวยของเรียวกังนี่หอมมมากกกกกกกกกก ดมได้เรื่อยๆ เลย
ตอนจ่ายสตางค์ก่อนเช็กเอาต์ เราหยิบหนังสือที่วางตรงเคาน์เตอร์มาเปิดๆ ดูด้วยความอยากรู้อยากเห็นไปเรื่อย
คุณลุงเก้งสังเกตเห็น แกเลยยกให้ 1 เล่ม (ปกติเขามีไว้ขาย)
เราบอกไม่เป็นไรค่ะ ไม่เอา เกรงใจจิงจิ๊งงงง (เพราะอ่านไม่ออกเลยสักกะตัว)
แต่เขาก็ยืนกรานจะให้ สุดท้ายเลยรับมาจนได้ มันคือหนังสือเกี่ยวกับเรียวกังในย่านออนเซ็นทั่วประเทศญี่ปุ่น
ลุงบอกเหมือนกับว่า “จะได้เอาไว้ไปเที่ยว”
โห…ขอบคุณมากนะคะลุง หนูเองก็อยากตะลุยแช่ออนเซ็นให้ทั่วๆ เหมือนกัน หวังว่าจะมีโอกาสอย่างนั้นนะคะ (คำนับ)














พวกเราเดินลอยๆ ออกจากเรียวกัง โดยมีคุณยายทุกคนมาโค้งคำนับขอบคุณ
เราทำอะไรไม่ได้มากนอกกจากยิ้ม เพราะพูดไปก็ไม่เข้าใจกัน แต่แค่นี้ก็แฮปปี้มากละ
วันนี้ได้นั่งแทรมธรรมดากลับ เราหลับๆ ตื่นๆ ตาลอยๆ อยู่ในแทรมเพราะขาดกาแฟและตื่นเช้ามาก
พอรวมกับความอ่อนเพลียจากการแช่อออนเซ็นรอบเช้า เลยพากันเคารพธงชาติในแทรมโดยพร้อมเพรียง
ถึงสถานี JR matsuyama ตอนอีก 10 นาทีรถเที่ยวถัดไปจะออก เลยรีบแจ้นไปต่อแถว
และได้พบกับอีกหนึ่งความมีระเบียบของคน ญป เพราะขนาดรถไฟจอดประตูไม่ตรงเส้นที่ขีดไว้ให้ต่อแถว
คนก็ยังต่อตรงเส้นที่ขีดไว้อย่างพร้อมเพรียง ไม่มีใครหลุดไปยืนตรงประตูเลยแม้แต่คนเดียว (ฉันเลยไม่กล้า)
บูไปซื้อกาแฟกระป๋องมา ร้อนหนึ่งเย็นหนึ่ง (รสชาติเฉยๆ) และน้ำสาลี่อีก 1 (อร่อยสดชื่น)
เราจิบกาแฟไปครึ่งกระป๋อง แล้วบูก็เอนเบาะให้นอน หลับไปราวๆ ชม.นึง ตื่นมาน้ำสาลี่หมดแล้ว (มีโจรในรถไฟ!)
จากนั้นก็มองบ้านเรือน ทุ่งนา สลับกันไปมา บูบอกข้าวบางแห่งน่าจะปลูกไว้ทำสาเก
เออ…จริงแฮะ เพราะปลูกข้าวกันแยะมากๆ จนน่าจะเกินกว่าการบริโภค
เป้าหมายถัดไป…เมือง Okayama!