เที่ยว Taichung : อ่านก่อนไป

batch_IMG_3442

เป็นอะไรที่แปลกดี คือตอนที่ 1 ดันเขียนหลังสุดเลยอะ (เพิ่งเห็นว่าเขียนแล้วเซฟเป็นดราฟท์ไว้มาชาตินึง)

เข้าใจว่า ถ้าใครสักคนจะตัดสินใจมาไต้หวัน เมือง Taichung หรือ ไถจ๊ง
คงไม่ใช่เมืองแรกที่จะเลือกมากัน

หนึ่ง…เพราะมันดูมีแลนด์มาร์กให้พุ่งชนน้อยกว่าไทเป

และสอง…ข้อมูลต่างๆ ดูจะน้อยเข้าขั้นหายาก(มาก) ขูดทั่วเน็ต เจอข้อมูลภาษาอังกฤษเท่าขี้เหมียว ยิ่งร้านน่ารักมุกมิกทั้งหลาย…มีแต่ภาษาจีน! เมื่อรวมกับการเดินทางไม่สะดวกสบาย มีรถรองรับน้อย … ทำให้อดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่าตูจะดิ้นรนไปทำไมกัน

จังหวะนั้น…ที่ทำให้เข้าใจว่าทำไมคนไม่ค่อยไปไต้หวันกันมากเท่าเกาหลี ญี่ปุ่น

 

Lavender Cottage, Taichung
ไถจ๊ง

ข้อมูลทั่วไป
Taichung เป็นเมืองที่อยู่กลางประเทศ เป็นเมืองใหญ่ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งในเมืองและนอกเมือง
แต่กลุ่มเป้าหมายหลักของเขา (นอกจากนักท่องเที่ยวในประเทศ) ไม่ใช่คนไทย แต่เป็น “คนจีน คนฮ่องกง และคนสิงคโปร์” เพราะชาติเหล่านี้เขาอ่านและพูดแมนดารินได้
การจะกิน จะเดินทาง จะสื่อสารต่างๆ จึงเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะคนฮ่องกง…วันหยุด 3-4 วันทีไรเป็นได้เฮโลกันไปไต้หวัน จนอิฉัน(ที่ก็ไปไต้หวันในวันหยุดเหมือนคนอื่นนั่นแหละ) ที่กำลังตามท้องถนนนึกว่าตัวเองยังออกมาไม่พ้นฮ่องกง เพราะมีแต่คนพูดจีนกวางตุ้ง!

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ฟาร์มเห็ด หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวในไถจ๊ง

แลกเงิน
กรุณาแลกเงินมาจากเมืองไทยให้แล้วเสร็จ เพราะการแลกเงินในไถจ๊งเป็นสิ่งที่วายป่วงมาก
อย่าคิดนะว่าพี่แขกจะมีสิทธิ์ไปตั้งบูธตามสถานที่ท่องเที่ยวให้แลกกันง่ายๆ เหมือนเมืองอื่นใดในโลก
ข้อสรุปของการแลกเงินในไถจ๊งคือ
1. จุดแลกเงินน้อย ถึงน้อยมาก
2.ข้อจำกัดในการแลกมีแยะมาก

สถานที่แลกเงินในไถจ๊งจะมีอยู่เฉพาะที่
1. ห้าง (เรตอัปลักษณ์มาก รับเฉพาะบาง currency และที่รับก็ต้องขอดูปีที่ผลิตแบงก์ด้วย!)
2.บางโรงแรม (ให้แลกเฉพาะลูกค้ารร!)
3.ธนาคาร (ปิดวันหยุด)

ประสบการณ์แลกเงินวายป่วงของเราถือกำเนิดขึ้นที่นี่
เดินทางมาแยะ แต่ไม่เคยเกิดปรากฎการณ์ “ขาดเงินสด” มาก่อนในชีวิต
หนึ่งเพราะ “ความงก” ของเราเอง ที่แบ่งเงินสดออกเป็น 2 ส่วน ส่วนนึงแลกที่ฮ่องกง และอีกส่วนกะว่าจะแลกที่ไถจ๊ง
เพื่อเปรียบเทียบเรทไง ว่าแลกที่ไหนได้เรทดีกว่า คราวหน้าเราจะไปแลกถูกที่ คิดว่าได้ไปบ่อยแน่ไต้หวัเนี่ย(เป็นไอเดียที่แจ่มเลยใช่ม้า)

แต่เราดันเดินทางช่วงวันหยุดอีสเตอร์ พอรับเป๋าเสร็จพบว่าบูธแลกเงินที่สนามบินไถจ๊งคิวยาวมาก
อ้ะๆ ไม่เป็นไร เดี๋ยวเดินผ่านบูธแลกเงินในเมืองค่อยแลกก็ได้ มันต้องมีอยู่แล้วววว
จากนั้นครอบครัวตัวพีของเรา จ่ายอะไรก็ควักแต่เงินสดๆ จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งเปิดเป๋าออกมานับตังพบว่า…เงินสดเหลืออยู่ไม่กี่พัน NT เองอ่ะ

วันนั้นเราเหลือเงินกันไม่ถึง 3000 NT และยังเหลือเวลาเที่ยวอีก 3 วัน ซึ่งที่ๆ จะไปล้วนแล้วแต่ไม่รับบัตรเครดิต
หนึ่งในนั้นต้องใช้เงินสดซื้อบัตรเข้าฟาร์มต่างๆ นอกเมือง ราว 200-300NT/คน/ฟาร์ม (4 ฟาร์มก็แฟบแล้ว!)
อีกวันเราจะไป Sun Moon Lake ต้องมีค่าเรือ ค่ารถบัส ค่ากิน ฯลฯ ซึ่งเขาไม่รับบัตรเครดิตแน่ๆ

คือ…นับเงินยังไงก็ไม่พอ….เลยเริ่มการตามล่าหาเงินสดด้วยการกด ATM
พบว่ากดเงินไม่ได้ จะบัตรเครดิตหรือ ATM มันก็ไม่ยอมคายเงินออกมา T^T (เราใช้บัตรฮ่องกงกัน)
เลยไปขอแลกโรงแรมที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่พนักงานไม่ยอมให้แลกถ้าไม่ใช่ลูกค้าโรงแรม แม้เราจะทำหน้าเศร้าแค่ไหนก็ตาม
พอไปห้าง ก็พบว่าเค้าไม่รับธนบัตรฮ่องกงที่ผลิตก่อนปี 2010! (ก่อนหน้านั้นมีเหตุปลอมแปลงแบงก์ฮ่องกงกันหนักมาก ขนาดบางร้านในฮ่องกงเอง ยังไม่ยอมรับแบงก์ 1000 HKD เลย)
คือจากเงินฮ่องกงทั้งหมดในกระเป๋าเรา 2 คน สามารถแลกเงินไต้หวันเพิ่มมาอีกแค่ 3600NT (ก็ยังคิดว่าไม่พอ)

จุดนึงนึกขึ้นได้ว่า หรือเราควรเอาบัตร ATM ไปกดที่ตู้ของธนาคารเองเลย (พวกเราใช้ HSBC)
ก็เลยตามล่าหาตู้ ATM HSBC ที่มีน้อยนิดเหลือเกินในไถจ๊ง…เพื่อที่จะพบว่า…ก็ยังกดเงินไม่ออกคร้า!
เหลือบมองข้างๆ ตู้กด พบเห็นสลิปจำนวนมาก หยิบมาดูถึงรู้ว่า มีคนชะตากรรมเดียวกับเราเพียบคือกดเงินไม่ออก
มันเกิดอะไรขึ้นกับบัตร ATM HSBC! (ธนาคารยังปิดอยู่ เพราะเป็นช่วงอีสเตอร์)

และเหมือนถูกน้ำเกลือราดบนแผลสด ค่ำนั้นคุณบูอุตส่าห์เลือกร้านอาหารที่ดูดีมีสกุล
แน่ใจว่าจะต้องรับบัตรแน่นอน แต่คำตอบของพนักงานคือ “no no, cash only”
พวกเราที่กำลังจิบน้ำเปล่าแทบพ่นปู้ด…โชคดีนะที่ราคาอาหารไม่แพงมาก (แต่ก็ยังหลักพันข่ะ!)
คุณบูถึงกับไม่สั่งเบียร์ไต้หวันมาลอง ทำหน้าเศร้าๆ บอกว่า “ต้องเก็บเงินสดไว้ให้เยอะที่สุด”

จุดนั้นเกือบถอดใจ ไม่ไป Sun Moon Lake ละ เพราะถ้าเดินเล่นในเมือง
ก็คงไม่ต้องใช้เงินมาก และร้านอาหารใหญ่ๆ ก็น่าจะรับบัตรเครดิต
ร้านขายของที่ระลึกใหญ่ๆ ก็คงยินดีรับบัตรเครดิตเช่นกัน
ถ้าไม่ไหวมากๆ กะจะโอนเงินจาก Paypal ไปเข้าบัญชี Jodie ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เราเช่าพัก
แล้วให้ Jodie เอาเงินสดมาให้เราอีกต่อนึง ฟังดูวุ่นวาย แต่ก็น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายอ่ะนะ

แล้วอยู่ๆ คุณบูก็นึกอะไรขึ้นมาได้ ว่าตอนกด ATM จากตู้ HSBC  มันบอกว่าเรากดเงินเกินวงเงิน
ซึ่งพวกเราไม่เคยตั้งวงเงินใดๆ จากนั้นคุณบูก็หมกมุ่นอยู่กับการเช็คอะไรบางอย่าง
จึงได้คำตอบว่า HSBC เพิ่งทำการ reset วงเงินถอนเงินต่างประเทศของบัตร ATM ของลูกค้าทุกคนไว้ที่ 0
จนกว่าเราจะไปแก้ไขมันเองจ้าาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาา (มิน่า กดแค่ 1000 NT มันก็ยังบอกว่าเกินลิมิต!)

ค่ำนั้นพอกลับที่พักและคุณบูแก้ไขวงเงินจาก 0 ให้เป็น 3 ล้าน (ก็พูดเว่อร์ไปงั้นแหละ ^^”) พวกเราก็พุ่งตัวออกจากบ้านไปยังตู้เอทีเอ็มทันที จุดนั้นแขนขาจะล้าแค่ไหนตรูต้องไปพิสูจน์ให้ได้ และ….แทบกรีดร้องดีใจเมื่อกดเงินได้แล้ววววววววววววววววววว!
คือหลังจากผ่านช่วงเวลาทั้งวันแห่งการตามล่าหาเงินสด  การหมกมุ่นคิดหาวิถีทางต่างๆ
โมเมนต์ที่คิดว่าไม่สามารถกิน หรือซื้ออะไรได้อย่างใจ หรืออาจจะต้องอดไปเที่ยวบางแห่ง
วินาทีที่เห็นเงินไหลออกมาจากตู้นี่แบบ…ทั้งดีใจ โล่งอก อยากหัวเราะกับร้องไห้ และชวนคุณบูเต้นสกิ๊ปฉลองไปพร้อมกัน

ตอนหลังมาคุยกับคนอื่นที่ใช้บัตร ATM ฮ่องกงเหมือนกัน
พบว่าเธอก็กดเงินที่มาเลเซียไม่ออก ณ เวลาตี 1 ซึ่งกำลังจะเช็คอินกลับฮ่องกง
เลยไม่มีเงินจ่ายค่าโหลดกระเป๋าเพิ่ม ตอนแรกพนักงานไม่เชื่อ เธอถึงกะพาไปกด ATM ด้วยกัน
จนสุดท้ายพนักงานต้องยอมให้โหลดกระเป๋าแบบรถเข็นเด็กแทน คิดดูเหอะ ว่าประเด็นนี้มันคือปัญหาระดับสากล!

batch_IMG_3335
Taichung

 การเดินทางจากสนามบิน Taichung International Airport เข้าเมือง
ด้วยรถบัส ใช้เวลาราว 1.30 ชม.
รถ TCbus หมายเลข 9 มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ Taichung Train Station
ค่ารถ ผู้ใหญ่ 45NT/ เด็ก 25NT
เวลา: 6.00-22.00 น.

 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
Lavender Cottage ไถจ๊ง

การเดินทางจาก Taipei มาที่ Taichung
จะนั่ง High Speed Train หรือรถไฟธรรมดามาก็ได้ โดยส่วนตัวคิดว่าถ้ามีเวลาพอ
การนั่งรถไฟธรรมดาจะง่ายกว่า เ
พราะสถานีรถไฟอยู่ในเมืองย่าน Central District ไม่ต้องต่อรถไฟเพิ่ม
ขณะที่สถานีรถ High Speed Train จะอยู่ห่างเมืองไปราว 8 กม. 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
Lavender Cottage ไถจ๊ง

การเดินทางในไถจ๊ง
ปกติพวกเราคือนักเดินเที่ยวตัวยง แต่ที่ไถจ๊ง…เดินไม่ได้ค่าาาาาาาาาาาาา! (รองเท้าสึกแน่นอน)
ด้วยความที่เมืองใหญ่มาก และย่านต่างๆ ก็กระจายตัวกันออกไป
คือถ้าไปอยู่ผิดที่ผิดทางนี่ แทบจะไม่ได้เห็นอะไรกันเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าคิดจะเที่ยวในเมืองเป็นหลัก
แนะนำให้เลือกที่พักแถบ Central นะคะ (แต่เราพักแถบ North District อ่านคลิกที่นี่)
จะช่วยประหยัดเวลาเดินทาง และพื้นยางรองเท้าได้มาก

ที่นี่มี BRT ซึ่งลักษณะคล้าย BRT บ้านเรา แต่ของเขาใช้งานได้จริง! แม้สถานีจะไม่ทั่วถึงชอนไช
แต่ก็เป็นทางเลือกที่ทำให้เราไม่ต้องเดิน นี่เป็นระบบที่เข้าใจง่ายที่สุดของการเดินทางในไถจ๊งละ (ตอนเราไปเค้ายกเว้นค่ารถ BRT  เนื่องในโอกาสอีสเตอร์ด้วยล่ะ)

รถบัส ในไถจ๊งจะแยกป้ายกันตามบริษัท
สมมตินะ สาย 15 บริษัท ก. ต้องรอหน้าเซเว่น
แต่สาย 16 บริษัท ข. ต้องไปรอหน้าแฟมิลี่มาร์ตอีกฟากหนึ่งของถนนเป็นต้น
ดังนั้นถ้ารอผิดป้ายคือ…เอ็งรอไปเฮอะ! ระบบนี้มีเฉพาะแค่ในบริเวณเมือง ถ้านอกเมืองไปนิดก็จะง่ายขึ้น
เพราะป้ายรถบัสจะใช้รวมกัน (เฮ้อ…พอนึกย้อนถึงตอนเดินหาป้ายก็เหนือ่ยหัวใจแล้วอ่ะ)

ความลำบากอีกอย่างของการนั่งรถบัสคือ google map ไม่มีชื่อป้ายเป็นภาษาอังกฤษให้
(แต่บนรถมีประกาศเป็นภาษาอังกฤษนะ) ดังนั้นใครจะไปไหน ก็ต้องตั้งสติกันไว้ให้ดีเยี่ยมเพื่อสดับฟังเสียงป้าย
ทั้ง BRT และรถบัส ใช้บัตร Easy Pass จ่ายได้

อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือการยืมจักรยาน ibike
ขั้นตอนคือ ลงทะเบียน -> ยืมจักรยาน -> คืนจักรยาน
ค่าบริการคือ  (ยิ่งยืมนานยิ่งแพง)
4 ชม. แรก คิด 10NT/30 นาที (ใช้น้อยกว่า 30 นาทีก็คิด 10NT)
ชม.ที่ 4-8 คิด 20NT/30 นาที
ชม.ที่ 8 เป็นต้นไป คิด 40NT/30นาที
จุดยืม-คืน เค้ามีค่อนข้างแยะมาก แค่มีบัตร Easy Card ก็ใช้ได้แล้ว
ลองศึกษารายละเอียดกันดูที่ http://i.youbike.com.tw/en/index.php

หรือใครขับมอเตอร์ไซค์คล่อง จะเช่ามอไซค์ขับก็น่าจะได้
เพราะคนไต้หวันเขาขับมอเตอร์ไซค์กันเยอะม๊ากกกกก

บางครั้งเราก็เลือกนั่ง แท็กซี่ เพื่อประหยัดเวลาและพลังขา ที่นี่ค่ามิเตอร์เริ่มต้น 85NT
ถ้านั่งราว 5-10 นาที ค่าโดยสารตกอยู่ที่ 100 กว่า NT
ถ้านั่ง 10-15 นาที ค่าโดยสารอยู่ราวๆ 200 กว่า NT
บอกเลยว่าไม่ถูก แต่ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่พลังงานในร่างหมด
การยอมจ่ายสตางค์ค่าแท็กซี่ก็เป็นสิ่งที่เลอค่าขึ้นมา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s