บันทึกหนีสามีเที่ยวอิตาลี
คือไดอารี่การเดินทางในอิตาลีเป็นเวลา 2 สัปดาห์กว่า
ร่วมกับเพื่อนก้อยแสนสวย ที่รักการกินกล้วยเป็นชีวิตจิตใจ

แดดจ้าที่โบโลญญ่า (Bologna)
ถ้าจะรู้สึกคุ้นหูกับชื่อเมืองก็ไม่แปลก เพราะของดีเมืองโบโลญญ่าที่ทั่วโลกรู้จัก ก็คือโบโลเนสซอส (พาสต้าซอสเนื้อ) แต่สิ่งที่ล่อหลอกให้พวกเราตัดสินใจไปเมืองนี้ ไม่ใช่ของดีของเขาหรอกนะ
ระหว่างนั่งรถไปโบโลญญ่า ฉันทำการบ้านด้วยการอ่านไกด์บุ๊ก ที่มีข้อมูลสั้นเท่าหางอึ่ง…ว่าที่นี่เป็นเมืองมหาวิทยาลัย แทบจะมีทุกสาขาวิชา เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโบโลญญ่า ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลก ตั้งแต่คศ.1088! ดั้งนั้นเมืองนี้จึงเต็มไปด้วยนักเรียน นักศึกษา อย่างไม่น่าสงสัย

ปอร์ติโก (Portico) หรือทางเดินยาวหน้าอาคาร ที่มีเสาสูงแบบสถาปัตยกรรมกรีกโบราณค้ำ ก็ถือเป็นของเด่นโบโลญญ่า เพราะขึ้นชื่อว่ามีปอร์ติโกยาวที่สุดในโลก คือประมาณ 45 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นของมันเห็นได้ชัด เพียงเดินข้ามถนนจากสถานีรถไฟ วันนั้นเรา 2 คนก็ได้ปอร์ติโกนี่แล ที่บดบังแสงแดดจัดจ้าไม่ให้ใบหน้ามีกระเพิ่มเติม


เราสองคน นั่งรถไฟจากฟลอเรนซ์ ไปโบโลญญ่า ใช้เวลาแค่ไม่ถึงชั่วโมง กำหนดการก็คือไปถึงตอนเที่ยง ฝากกระเป๋าเดินทางไว้ที่สถานี เดินเล่นหาอาหารกลางวันกินในเมืองโบโลญญ่า จากนั้นไปรอเจ้าของ bnb มารับที่สถานีรถไฟตอน 5 โมงเย็น เพราะจากตัวเมืองจะต้องนั่งรถออกนอกเมืองขึ้นเขาไปอีกเกือบ 40 นาทีแน่ะ

จุดแรกที่เตร่ไปดู คือหอคอยคู่ หรือ Two Towers แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมือง ที่วันนี้มีการซ่อมแซมเสียหนึ่ง แต่แหม…มันน่าไหม พออิฉันจะถ่ายรูปหอคอยขึ้นมา ฟ้าจากที่แดดเปรี้ยงๆ ดันปิดมืดทะมึนเชอ!!!! โกรธและงอนจึงไม่เขียนประวัติเธอละ คุณหอคอยคู่…(เกี่ยวไหม!!??)
ในเมืองมีคาเฟ่เก๋ๆ หลายแห่ง ร้านหนึ่งที่เดินเข้าไปแล้วติดใจชะมัด ชื่อว่า Ambasciatori ด้านในเหมือนรวมหลายร้านเล็กๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งร้านหนังสือและเครื่องเขียนที่ชั้นล่าง ชั้นบนคือร้านอาหารและเดลี มีขายพวกเครื่องอุปโภคบริโภค เส้นพาสต้า เครื่องกระป๋อง และเมื่อเดินวนไปอีกทาง อ้าว! เจอมุมหนังสืออีกแล้ว โต๊ะอาหารก็ตั้งโดยทั่วไป คนนั่งก็ทานไปไม่มีใครยินดียินร้าย ที่มีคนเดินชอปปิงผ่านหน้า ยืนอ่านสรรพคุณบนฉลากกระป๋องอยู่ข้างตัว



เราใช้เวลาพอสมควรกันที่ร้าน Bialetti (เจ้าพ่อแห่งการทำ Moka Pot) ร้านเขาเน้นขายเครื่องครัวประเภทหม้อ ไห กะทะขนาดต่างๆ รวมถึงหม้อมอคค่า ที่มีพวกลิมิตเต็ดงามแจ่มให้เลือกชอปกลับไปในราคาถูกเกินห้ามใจ ขอให้มีที่ว่างในกระเป๋าใส่กลับไปพอเถอะแม่คุณ! (ฉันหยิบบัตรโดยสารชั้นประหยัดของตัวเองมาตอกย้ำความจริงอีกรอบ)
เราเดินเตร่แบบไร้ทิศทางไปเรื่อย เจอคาเฟ่น่านั่งก็พักกินกาแฟ เจอร้านน่าสนก็เข้า บรรยากาศเมืองนี้เดินสบายดี มีคนขวักไขว่ นักท่องเที่ยวน้อยมาก เพราะเป็นเมืองการศึกษาเสียมากกว่า เดินสักพักใหญ่ พวกเราก็เริ่มหิว…






ร้าน Osteria dell’Orsa
เปาโล สามีของอุ้มเพื่อนสาวของเราที่อิตาลี โฆษณาสรรพคุณความอร่อยและถูกของร้านนี้ล่วงหน้า ตั้งแต่รู้ว่าเราวางแผนจะมาโบโลญญ่า เน้นว่าจะต้องสั่งครอสตินี (Crostini) มาทานกันให้ได้นะ ครอสตินีในภาษาอิตาเลียนแปลว่าขนมปังชิ้นเล็ก ในความเป็นจริงคือขนมปังปิ้งโปะหน้าสารพัดแบบ ทั้งเนื้อ ผัก ชีส เมนูร้านนี้มีครอสตินีให้เลือกหลากหลาย ในราคาประหยัดจริงสมคำโฆษณา ตามประสาร้านอาหารในเมืองที่มีนักศึกษาเต็มเพียบ
ร้านอยู่ไหน? โอ๊ยสบ๊ายย แค่เอาชื่อร้านหาใน Google Map ก็สามารถดั้นด้นไปถึงได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ไม่ว่าหลังจากนี้โลกของเราจะมีวิวัฒนาการทางด้านการสื่อสารไร้สายไปอีกไกลเท่าไหร่ แต่ฉันขอเทิดทูนกูเกิล ที่ทำให้มนุษย์ที่อ่านแผนที่ไม่เก่งอย่างฉัน สามารถเดินไปยังร้านอาหารที่ไม่รู้จัก ในเมืองที่คนส่วนใหญ่ไม่พูดภาษาอังกฤษ และเพิ่งมาเป็นครั้งแรกได้ถูกต้อง
เราใช้หลักการสั่งมาแบ่งกันทาน จะได้ลองหลายอย่าง เลือกครอสตินีหน้าโพโมโดโร่ (Pomodoro = มะเขือเทศ) ซึ่งมีแต่มะเขือเทศจริงๆ เครื่องปรุงของเขามีแค่พริกไทยดำ น้ำมันมะกอกและเกลือ เพื่อให้เราได้สัมผัสกับความสดหวานของมะเขือเทศแบบเต็มคำ
อีกอันหนึ่งคือออกัสมิโก้ (Orgasmico) แม้ชื่อจะล่อแหลม แต่บ่งบอกถึงความรู้สึกหลังจากได้ลิ้มรสมันได้ตรงเผงดีแท้ ฟิน! ส่วนผสมของชีสบรี (ตอนหลังมาทำเอง พบว่าใช้คาเมนแบรต์ก็ได้) ถั่ววอลนัตและน้ำผึ้งบนขนมปัง ได้รสชาติมันของถั่ว หอมเค็มละมุนของชีส และหวานจากน้ำผึ้งในคำเดียว พอเคี้ยวกับขนมปังที่นุ่มใน กรอบนอก เราก็ลอยขึ้นสวรรค์



“สุดยอด!” ฉันกับก้อยชมไม่ขาดปากตลอดมื้อ ก้อยเองก็ฟินเฟ่อไม่ต่างกัน
และแน่นอน เราไม่ลืมสั่ง Bolognese pasta หรือคนที่นี่เรียก Ragu (รากู) มากินด้วย เพราะมาถึงถิ่นแล้ว มันคืออะมัสต์
“ไม่เหมือนที่เคยกินที่อื่น” ฉันสรุปหลังจากตักพาเมซานชีสผงโรยบนซอส แล้วจิ้มเส้นพาสต้าเข้าปากเคี้ยว รสชาติของมันติดเปรี้ยวนิดๆ ซอสแห้ง มีเนื้อคลุกเคล้าพอประมาณ ฉันชอบตรงเขาไม่ใส่สมุนไพรกลิ่นแรงรบกวนโสตประสาทการกินลงไปในนั้น สรุปได้ว่ากินรากูในโบโลญญ่าเมืองต้นกำเนิดแล้ว “เหมือนกินอาหารอีกเมนูนึงไปเลย”
แต่ก็ในทางที่ดีนะ
อังเดร
5 โมงตรงพวกเราก็มายืนรออังเดร หลังจากยืนขาแข็งรอในคาเฟ่หน้าสถานีมาพักใหญ่ เหตุเพราะคาเฟ่แบบนี้มักไม่มีที่นั่งให้ มีแต่โต๊ะกลมไว้วางถ้วยกาแฟเท่านั้น…
ที่พักของพวกเราชื่อ Cherry Cat B&B ตอนแรกอังเดรซึ่งเป็นเจ้าของไม่ว่างมารับ เลยกะจะนั่งรถไฟไปกันเอง แต่หลังจากเขาสลับเปลี่ยนเวลากันได้ ก็รีบบอกเราทางอีเมลว่า “ขอผมไปรับเถอะครับ เพราะมันไกลจริงๆ”
โชคดีที่อังเดรตรงเวลา เขาดูหนุ่มกว่าสี่สิบต้นซึ่งเป็นอายุจริงอยู่มากโข หลังจากทักทายและเอากระเป๋าเดินทางใส่หลังรถเรียบร้อย พวกเราก็มุ่งหน้าสู่ Cherry Cat B&B ซึ่งเป็นที่พักบนเขา อยู่ห่างจากตัวเมืองโบโลญญ่าประมาณ 40 นาทีอย่างที่บอก ระหว่างทางอังเดรถามพวกเราว่า วันนี้ไปไหนกันมาบ้าง
“มื้อกลางวันเราลองกินรากูกันมา” ฉันว่า
“เป็นไงบ้าง” เขาถามด้วยเสียงเนือยเนิบน่าฟัง อังเดรพูดภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม จนฉันอดสงสัยในใจไม่ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด เขาเคยเรียนเมืองนอกมาเหรอ? หรือเป็นลูกครึ่ง? หรือยังไง?
“รสชาติไม่เหมือนที่อื่น” ฉันว่า อังเดรหัวเราะ
“แน่นอนที่สุด” เขาตอบเหมือนคนเคยได้ยินคำนี้มาบ่อยครั้ง “เพราะวัตถุดิบ และสูตร เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสถานที่ ผมเองเคยไปกินที่อื่นก็พบว่าไม่เหมือน”
“แล้วคุณว่าที่ไหนอร่อยที่สุด” ก้อยถาม
“ก็ต้องที่โบโลญญ่าสิ” นั่นคือคำตอบของอังเดรที่เรียกเสียงหัวเราะของพวกเราทุกคนได้


Cherry Cat B&B
ระยะเวลา 40 นาทีไม่ถือว่านาน เมื่อบทสนทนาในรถดำเนินไปเรื่อยๆ สลับกับความเงียบระหว่างสองสาวนักเดินทาง หันไปชื่นชมทิวทัศน์สองข้างทาง ซึ่งเป็นเนินเขาสลับกับทุ่งหญ้า และเรือกสวนไร่นาของผู้คน
อังเดรตั้งใจสร้างบ้านหลังใหญ่ เพื่อใช้เป็นที่พักแบบบีแอนด์บีแบบ 4 ห้องแต่แรก ดังนั้นแต่ละห้องจึงมีห้องน้ำส่วนตัว ห้องโถงด้านล่างกว้างใหญ่ ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์เรโทร แบบที่ฉันเห็นแล้วน้ำลายสอ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือการเล่นสี ทั้งแบบโทนเดียวและตัดกัน ของทั้งเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งภายใน
“ฝีมืออีเลน่า เค้าเก่งเรื่องการใช้สี” อังเดรพูดถึงภรรยาสาวด้วยความภาคภูมิใจ
ห้องนอนของเราก็สวยและกว้างขวาง โทนหลักคือสีม่วง มีลวดลายดอกไม้เป็นวอลล์เปเปอร์ ห้องน้ำมีสองโถให้ใช้ (ประเทศนี้มีโถส้วม 2 อัน อันนึงเหมือนบ้านเรา อีกอันนึงไว้ล้างเท้าและก้นอย่างเดียวในหน้าหนาว)







อีเลน่าเตรียมของทานเล่นให้เราก่อนอาหารเย็น เป็นขนมปังธัญพืชโปะหน้าด้วยชีสและมะเขือเทศ แม้จะดูเหี่ยวและดำไปบ้าง แต่รสของโพโมโดโร่หวานจัด จนถึงทุกวันนี้ฉันยังจำความรู้สึกตอนกัดมันได้ และรู้สึกว่าตัดสินใจไม่ผิดที่ “ฝากท้อง” ไว้กับฝีมือทำอาหารของอีเลน่าทุกมื้อ เนื่องจากที่นี่ค่อนข้างห่างไกล เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปหาอาหารข้างนอก
อีกอย่างคงเสียดายมาก หากเราไม่ใช้เวลาอยู่ในที่พักแสนสวยนี้ให้คุ้ม เพราะนอกจากด้านในจะแต่งเสียสวยแล้ว ด้านนอกยังมีวิวสวยยิ่งกว่า เนื่องจากมันตั้งอยู่บนเนินสูง จึงเห็นบ้านเรือนผู้คน และแนวต้นไม้ลดหลั่นกันลงไป และมองทิวทัศน์ได้ไกลจนถึงฟ้าสีคราม

สวนด้านหลังบีแอนด์บีคือเนินลาด มีก้อนหินและบันไดวางเป็นทางเดินลงไปถึงเพียงบางจุด อังเดรปลูกแอปเปิล ฟิก และผลไม้หลายอย่างเอาไว้ สมกับที่อุ้มเคยบอกว่า คนอิตาเลียนชอบปลูกพืชผักทานเองหากทำได้
ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือต้นเชอร์รี่ อันเป็นที่มาของชื่อ เชอร์รี่แคท บีแอนด์บี
เชอร์รี่…เจอแล้ว
“แคท” ล่ะ…อยู่ไหน?
“สมัยก่อนตอนย้ายมาอยู่นี่ใหม่ๆ เจ้าหยิน แมวดำของเรามันยังไม่คุ้นที่ เลยไม่ยอมไปไหนนอกจากเฝ้าอยู่ใต้ต้นเชอร์รี่ เราเลยเอามาตั้งเป็นชื่อบีแอนด์บีเสียเลย” อังเดรเล่าประวัติ จังหวะนั้นเอง…เจ้าตัวที่พูดถึง ก็เดินนวยนาดเข้ามาในบ้าน
“อ้าว ฉันนึกว่าสีขาวเสียอีก เมื่อกี๊เห็นมีตัวนึงอยู่ข้างนอกแน่ะ” ฉันนึกถึงแมวขาว ที่ใบหน้ามีสีดำเหมือนคาดหน้ากากนางเสือสาว
“สีขาวนั่นแมวเร่ร่อน แต่เหมือนจะยึดที่นี่เป็นแหล่งอาหาร เราเตรียมอาหารเผื่อมันเสมอ”
มิน่า ถึงเห็นมีจานอาหารอยู่สองจาน จานอาหารแมวบ้านนี้ทำจากกระเบื้องลายดอกเสียด้วยนะ







ดินเนอร์กับเดฟ
การมาพักที่เชอร์รี่แคท บีแอนด์บี คงไม่จบลงอย่างสวยงามประทับใจ หากขาดพ่อหนุ่มชื่อ “เดฟ” ไปในสมการ
“ผมก็มีแบบเดียวกัน แต่รุ่นเก่ากว่า” เดฟ หนุ่มอเมริกัน ร้องทักฉันที่กำลังก้มหน้าเคาะเขียนไดอารี่ประจำวันใส่แมคบุ๊แอร์ ขณะเขาวิ่งปรู๊ดดลงบันไดมาจากชั้นบน
นั่นคือคำทักทายแรกที่ทำให้เรารู้จักกัน…
ฉันหันไปยิ้มให้พ่อหนุ่มอเมริกันผมทองยาวสลวยจนถึงกลางหลัง (ฉันยังไม่เคยไว้ได้ยาวขนาดนั้นเลยให้ตายเหอะ!) เดาว่าเขาน่าจะทำงานในแวดวงศิลปะ แววตาและรอยยิ้มอ่อนโยนที่ส่งตอบกลับมา เหมือนจะบอกให้รู้ว่าเขาเป็นคนใจดี
เราได้คุยกันจริงๆ จังๆ อีกทีก็ตอนที่อีเลน่าเริ่มเสิร์ฟอาหารค่ำ ซึ่งวันนี้มีเพียง ฉัน ก้อย และเดฟ
สิ่งที่วางอยู่บนโต๊ะคือพาสต้าหอยใหญ่ (Shell) ผัดกับซอสมะเขือเทศโฮมเมด วอลนัต สมุนไพร แต่ละจานมีใบโหระพาใหญ่บึ้มประดับ ชีสพาร์เมซานอยู่ในถ้วยใสลายดอกใบจ้อยให้เลือกตักกันตามใจชอบ
รสชาติเป็นอย่างไรยังไม่รู้ แต่แค่เห็นเซ็ตติ้ง จาน ชาม ช้อน แนปกินและผ้าปูสีเขียวดอกพร้อย พวกเราทั้งสามก็ควักอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาบันทึกภาพกันเป็นที่สนุกนาน แนว “ถ่ายก่อนกิน” โดยมีเสียงเพลงย้อนยุคที่อังเดรเปิดจากเครื่องเสียงตรงมุมห้องเป็นฉากหลัง ที่ไม่โดดเด่นแต่ก็ไม่กลืนหาย
บทสนทนาบนโต๊ะอาหารของคนแปลกหน้า ย่อมมีหนทางลื่นไหลในตัวมันเอง ยิ่งอาหารและไวน์ในแก้วพร่องลงมากเท่าไหร่ ความคึกคักก็ดูจะเพิ่มขึ้นตามตัว ค่าอาหารและเครื่องดื่ม (รวมไวน์) ประมาณ 20 ยูโรต่อมื้อ ฉันว่ามันคุ้มที่สุดในโลก
“เดฟมาพักกับเราได้เดือนนึงแล้ว และนี่เป็นครั้งที่สองของเขา” อังเดรบอกขณะเอาหอมแดงดองใส่ถ้วยเล็กมาให้พวกเราลองทานแก้เลี่ยน ฉันกับก้อยอ้าปากหวอ…อิจฉาอว้ะ อยู่ตั้งเดือน!
“คราวนี้มาเขียนบทหนัง” เขาว่า ทำเอาปากเราสองคนที่หวออยู่แล้วกลายเป็นหวูด
“ทำไมมาเขียนไกลถึงที่นี่” ฉันอยากรู้
“เพราะทุกอย่าง อยู่ที่นี่เขียนงานได้แยะ เหมือนพลังสร้างสรรค์มันทำงานได้ดี” ก็น่าอยู่นะ มันทั้งสวย และสงบ ประสาทสัมผัสของเราตื่นตัวจากสีที่ใช้ตกแต่งบ้าน มากกว่าที่อื่นๆ
พาสต้าในจานที่ตอนแรกเห็นเหมือนน้อย ความเป็นจริงกลับแยะกว่าที่คิด ฉันพยายามกินจนหมด และถึงกับถอนใจเฮือกอย่างโล่งอกที่ไม่มีของเหลือ แต่ดีใจได้ไม่ถึงสามนาที อีเลน่าก็เดินออกมาจากครัวอีกครั้งพร้อมจานในมือ ในนั้นคือสลัดกองโตและพริกหวานยัดไส้
“ว้ากกกกก!” ฉันลุกพรวดขึ้นจากเก้าอี้ อารามตกใจทำให้ร้องเป็นภาษาไทยเสียงหลง ก่อนสลับไปพูดภาษาอังกฤษอีกครั้ง
“ไม่จริงใช่ไหม นี่ฉันฝันไปใช่ไหม ไม่ได้มีอาหารอยู่จริงใช่ไหม” ฉันบอกอย่างสยดสยอง ขณะมองดูอาหารจานบะเลิ่มบนโต๊ะด้านหน้าตัวเอง
อังเดรยิ้มกว้าง ขณะที่ก้อยหัวเราะก๊าก และหลังจากกลับมา ก้อยบอกว่าบนโต๊ะอาหารค่ำนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ขำมาก หน้าฉันเหวอสุดๆ ฉุดไม่อยู่ เหมือนกลัวจริงๆ จังๆ
…ก็กลัวจริงนะ มันอิ่มแล้วอ้ะ อิ่มจริงๆ นะ…
เรื่องของเรื่องคือฉันไม่อยากกินทิ้งกินขว้าง เพราะบางโฮสต์เค้าถือเรื่องนี้ ว่าถ้าคุณกินเหลือเขาจะคิดว่าอาหารเขาไม่อร่อย เราดูถูกเขา ฯลฯ
ดังนั้นช่วงเวลาในการทานจึงยาวนานกว่าที่คิด เพราะพวกเราทุกคนค่อยๆ ละเลียดอาหารไปเรื่อยๆ เราได้รู้จักผู้ชายที่ชื่อเดฟมากขึ้นเรื่อยๆ และรู้ว่าเขาเป็นพวกให้ความสำคัญกับการกินอาหารสุขภาพ ไขมันต่ำ พยายามกินสิ่งที่มาจากธรรมชาติโดยไม่ผ่านกระบวน จะบอกว่าคลีน?…ก็คงใช่
ฉันว่ากระแสนี้ค่อนข้างระบาดในอเมริกาและทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เหตุผลส่วนหนึ่งคือมีการใช้ยา สารเคมีและอื่นๆ อีกมากมายปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ อันผลักดันให้มนุษย์เรามีโรคร้ายและเป็นมะเร็งกันได้ง่ายดายกว่าแต่ก่อน คนจึงหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง ด้วยการระมัดระวังในการเลือกอาหารทานมากยิ่งขึ้น
ช่วงหนึ่งพวกเราถึงกับยกขโยงลุกจากโต๊ะออกไปด้านนอก เพื่อเด็ดสตีเวีย หรือหญ้าหวาน ที่อังเดรปลูกเอาไว้ในกระถาง ใบนี้ใช้ให้ความหวานในเครื่องดื่มแทนน้ำตาลได้ พอเอาเข้าปากเคี้ยวแล้วก็พบว่า หวานจริงๆ แฮะ…
“ถ้างั้น…คุณกินข้าวหรือขนมปัง” ก้อยถาม
“ขนมปัง” เดฟตอบ
“คุณควรจะกินข้าว ไม่ใช่ขนมปัง” ลูกสาวเจ้าของโรงสีดวงใจว่า “เพราะเทียบกันแล้ว ข้าวมีประโยชน์กว่า ดีต่อระบบย่อยมากกว่า เพราะมันไม่ผ่านกระบวนการหมือนขนมปัง”
หนุ่มเดฟที่ก่อนหน้านี้ สามารถตอบโต้พวกเราได้ทุกกระบวนท่า บัดนี้ถึงกับยกมือขึ้นกุมปลายคาง นิ่งคิดไปหลายวินาที “โอเค ผมยอมรับว่าใช่ แต่ก็พยายามกินขนมปังธัญพืชไงล่ะ” เขาหัวเราะแหะๆ ปิดท้าย
เดฟทำให้เราแปลกใจด้วยการบอกว่า เขาเรียนทำขนมปังและพาสต้ากับมัมม่าเมื่อสองสามวันก่อน แถมยังเอารูปขนมปังที่ทำมาอวดอย่างภาคภูมิใจ หนึ่งในนั้นคือเค้กกล้วยหอม ที่พอถามสูตรกันไปมาแล้วพบว่าคนละแบบกัน ก้อยบอกว่าจะส่งสูตรเค้กกล้วยหอมสูตรเด็ดของตัวเองไปให้ เพราะเธอนี่แหละคือบานาน่าเลิฟเวอร์สตัวจริง
แต่พรุ่งนี้ก็จะมีมัมม่าข้างบ้าน มาสอนทำพาสต้าให้พวกเรา ด้วยการช่วยเหลือติดต่อจากอังเดรนั่นเอง
จากนั้นก้อยและเดฟก็คุยกันเรื่องน้ำตาลเทียม สารอาหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นโลกใบที่ฉันไม่รู้เรื่อง จึงหูดับไปชั่วคราว กว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง ก็พบว่าเรานั่ง “คุยไป กินไป” อยู่ที่โต๊ะอาหารกันมานานกว่า 5 ชั่วโมง!
ฉันไม่ค่อยรู้จักคนอเมริกันมากนัก แต่เดฟทำให้ฉันเห็นคนอเมริกันในด้านที่น่ารัก ยิ้มง่าย เป็นมิตรและอ่อนโยน ไม่ใช่อเมริกันที่เห็นว่าตัวเองดีที่สุด รู้ดีที่สุด และมองคนอื่นต่ำกว่า เขาดีถึงขนาดฉันกับก้อยหยิบยกมาถกกันก่อนนอนจริงจัง ว่า “ใช่” ชายแท้หรือ “ไม่”
“ห่วงสุขภาพขนาดนั้น ไม่แท้…แน่นอน” ก้อยว่า
“แถมยังเรียบร้อย ยิ้มเก่งเกิ๊น” ฉันเสริม
“แต่เก้งส่วนใหญ่จะชอบแต่งตัวกันไม่ใช่เหรอ” ก้อยแย้งเองในใจ ก็จริงแฮะ หนุ่มเดฟคงสนใจเรื่องนี้เป็นอันดับท้าย เพราะเขาใส่เสื้อยืดกางเกงกากี ไม่ใช่อะไรที่หวือหวา
น่าเสียดายที่มิตรภาพดีๆ ต้องจบไปในเวลาอันสั้น เพราะเช้าวันต่อมา ก็ถึงเวลาที่เขาต้องจากไปสนามบิน อยู่มาตั้งนานสองนาน ดันคิดจะกลับเอาเช้าวันที่เรามาพอดี ชิชะ



“เมื่อกี๊ฉันไปเดินเล่นหลังบ้านมา เจอต้นแอปเปิลละ” ฉันรายงานเดฟเมื่อกลับเข้ามาในบ้าน หลังจากไปตระเวณเดินเล่นรอบๆ ที่บอก…เพราะเมื่อคืนเราคุยพาดพิงกันถึงเรื่องแอปเปิลที่ปลูกเอาไว้ ตอนนี้กำลังออกลูกสีแดงเต็มต้นเชียว
“แล้วคุณได้เก็บมาหรือเปล่า” เดฟถามกระตือรือร้น
“เปล่าอ้ะ บนพื้นมีน้ำค้างหรือไงไม่รู้ ทั้งลื่นทั้งลาด” ฉันอธิบาย
แล้วจู่ๆ เดฟก็ลุกพรวด ละมือจากสิ่งที่กำลังทำ เดินออกไปทางประตูหลังบ้าน “เดี๋ยวผมเก็บให้”
ฉันวิ่งจู๊ดดดด ตามไปแทบไม่ทัน ระหว่างนั้นพยายามประคับประคองตัวไม่ให้ไถล เพราะหลังบ้านเป็นเนินลาดชัน เสียบาลานซ์เมื่อไหร่คงได้กลิ้งหลุนๆ ลงไปแน่
แปลกที่เดฟเป็นหนุ่มตัวสูงชะลูด กลับทรงตัวได้สบายๆ แอบมีไถลบ้างเพียงครั้งเดียว เขาเก็บแอปเปิลสีแดงลูกเล็กให้ฉันหลายใบ ไม่พอยังเดินปราดๆ ไปอีกฝั่ง ดึงกิ่งไม้สองสามครั้ง แล้วส่งบางอย่างสีเขียวๆ มาใส่มือ
“ลูกฟิก!” ฉันร้องดีใจ อยู่บ้านเราเคยเห็นแต่แบบแห้งๆ ถูกทับจนแบนแต๊ดแต๋ นี่มันผลสด เด็ดจากต้นเลยนะ
“ถึงเปลือกจะสีเขียว แต่ผมว่ามันน่าจะสุกแล้ว” เขาบอกขณะเดินนำกลับเข้าตัวบ้าน จัดการเก็บข้าวของ เดินขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างชั้นบนและล่าง ระหว่างที่ฉันกับก้อยจัดการอาหารเช้าที่อีเลน่าเตรียมให้
อาหารเช้าที่ Cherry Cat B&B
แม่โว้ย! นี่มันเริดยิ่งกว่าโรงแรมเสียอีกนะ อาหารเช้าของที่นี่มีผลไม้สดหลายชนิดให้เลือกหยิบทาน น้ำส้ม ซีเรียลหลายแบบ แยมที่ผลิตในท้องถิ่น 4 ชนิด และขนมปังโฮมเมดอุ่นๆ 1 ตะกร้า (เราขอเบิ้ลทุกเช้า!) กาแฟสดจากเครื่อง และอาหารเช้าจานหลักอีก 1 จานใหญ่ (เสมอ) วันนี้คือออมเลตต์สอดไส้แฮมและชีสอย่างหนาปึ้กเลย ฉันจะผ่านด่านจานหลักไปถึงขนมปังได้ไหมหนอ หรือจะเริ่มจากขนมปัง แล้วจานหลักว่ากันทีหลังดี
สิ่งที่ทำให้ฉันบอกว่าเริดยิ่งกว่าโรงแรม ก็คือถ้วยชามรามไหวินเทจทั้งหลาย ที่อีเลน่าและอังเดรหยิบมาให้แขกใช้อย่างไม่แหนหวง การที่แต่ละชิ้นไม่ได้เข้าชุดกัน ยิ่งทำให้มันน่าสนใจยิ่งขึ้น อาหารตาพวกนี้มีส่วนทำให้อาหารเช้าของเรารื่นรมย์ขึ้นหลายระดับ อย่างน้อยก็สำหรับพวกฉันล่ะ
อารมณ์สลดเล็กน้อยเมื่อหางตาสังเกตเห็นเดฟถือกระเป๋าเป้ เดินออกประตูไปที่รถ อังเดรจะเป็นคนขับไปส่งที่สนามบิน นี่เขาจะไปโดยไม่ล่ำลาเป็นกิจจะลักษณะกับพวกเราเชียวเหรอ แม้เราจะรู้จักกันแค่คืนเดียวก็เถอะ แต่ฉันรู้สึกผูกพันกับความน่ารักของเขาอย่างบอกไม่ถูก (ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแมวที่เจ้าของกำลังจะทิ้งไปเที่ยว)
ระหว่างเคี้ยวออมเลตต์แฮมชีส (อร่อยแฮะ!) หูก็พยายามเงี่ยฟังเสียงเครื่องยนต์ของรถที่กำลังจะแล่นออกจากบ้านไป ทว่าสิ่งที่ได้ยินกลับเป็นเสียงฝีเท้า จากนั้นหนุ่มเดฟของเราในชุดพร้อมออกเดินทางก็ปรากฏตรงหน้า เขายิ้มกว้างก่อนอ้าสองแขนออกขณะเดินมาหาเราทั้งคู่
เดฟตรงเข้ามาสวมกอดอำลาฉันก่อนเป็นคนแรก ความสูงชะลูดของเขา กับความสูงเพียงมาตรฐานหญิงไทยของฉัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ก้อยตั้งชื่อให้ว่า “ดอกทานตะวัน (เดฟ) โน้มลงหาดิน (ฉัน)”
แหม…เห็นภาพ แต่เอาเถอะ ในที่สุดเดฟก็ไม่ลืมพวกเรา…
การจากลาครั้งนี้แม้จะกินเวลาตลอดกาล แต่มิตรภาพที่เกิดขึ้นจะยังอยู่ในใจฉันตลอดไป และทำให้ยิ้มได้เมื่อนึกถึงมันเสมอ





เฝ้าบ้าน
ช่วงสาย เจ้าบ้านทั้งคู่ไม่อยู่ อังเดรไปส่งเดฟ แต่อีเลน่าหายไปไหนไม่รู้
ส่วนแขก…เหลือแค่ฉันกับก้อย
น่ายินดีที่รู้ว่าทั้งคู่ไว้ใจ ปล่อยบ้านพร้อมทรัพย์สินของเก่างามๆ จำนวนมากไว้กับหญิงไทยสองคน โดยไม่กลัวว่าจะแอบยักยอกใส่กระเป๋าเดินทางเก็บไว้ ตอนนั้นฉันคิดกับตัวเองว่า ถ้าได้เป็นเจ้าของบีแอนด์บี ฉันจะปล่อยวางได้มากเท่าสองคนนี้ไหมหนอ และต่อมาอีกหลายๆ ปีที่ฉันปล่อยห้องพักให้คนอื่นเช่ารายวัน ทั้งที่หลายคนคัดค้านและเป็นห่วงนักหนา เพราะทรัพย์สินจุกจิกเล็กน้อยเต็มห้องนั้นมีค่าทางใจมากมาย นั่นแหละ…ฉันถึงรู้ตัวว่าปล่อยวางได้…เพราะคนประเภทเดียวกันมักจะดึงดูดกัน(ส่วนใหญ่) และแขกที่เข้ามาพักห้องฉันก็เป็นคนน่ารักทั้งนั้น ไม่มีใครขโมยของเลย แถมบางคนเอาของมาเพิ่มใส่ห้องให้ด้วยนะ!
เราสองคนหยิบอุปกรณ์ตกแต่งโปสการ์ด มานั่งแปะ นั่งฉีก นั่งเขียนกันที่โต๊ะกลมที่นั่งทานอาหารค่ำกันเมื่อคืน อากาศบนนี้เย็นสบาย ใส่สเวตเตอร์ตัวเดียวก็อุ่นเอาอยู่ แถมยังสงบ ไม่มีเสียงรถรารบกวน






เข้าใจถ่องแท้ว่าทำไมเดฟถึงเลือกมานั่งเขียนงานที่นี่ ต่อมความคิดสร้างสรรค์มันทำงานได้ดีจริงๆ ขนาดแค่การใช้เทปตกแต่งโปสการ์ด พวกเรายังทำกันได้สนุกสนานไม่มีเบื่อ นึกถึงเวลาปกติเวลานั่งทำงานในห้อง ฉันมักเนือยเอื่อยขี้เกียจ สงสัยต้องหาเรื่องเปลี่ยนสถานที่ทำงานเอาใจต่อมสร้างสรรค์บ่อยๆ เสียละ
เมื่อยขบก็ออกเดินสำรวจภายในบ้าน รวมถึงในครัวที่มีจานชาม และของน่ารัก น่าใช้ ฉันชอบที่ตรงหน้าอ่างล้างจานคือหน้าต่างบานใหญ่ เปิดออกไปเห็นสนามหญ้าและต้นไม้ แสงเข้าดีชะมัด ถ้ามีครัวแบบนี้คงล้างจานกันเพลิน!
เราเอาแอปเปิลลูกเล็ก และฟิกที่เดฟเก็บให้เมื่อเช้ามากัด ฟิกสุกดี รสชาติไม่หวานจัด ขณะที่แอปเปิลกรอบ…แบบที่ไม่เคยกินมาก่อน มันกรอบแบบมีพลังชีวิต (ศัพท์ของก้อย) รสไม่หวานและไม่เปรี้ยวจัด กำลังดี…เหมือนชีวิตที่ต้องมีบาลานซ์ ของหวานเกินไปมันอาจจะเกิดจากสารเคมีก็ได้ เอาหวานแบบทั่วไป แต่ปลอดภัยดีกว่า
เมื่อเดินสำรวจรอบๆ ก็พบเจ้าหยินนั่งอาบแดดอย่างสบายอารมณ์อยู่ที่ประตูหน้าบ้าน ขณะที่เจ้าแมวพเนจรนั่งเกาหูอยู่ที่ประตูด้านหลัง หรือพวกมันจะแบ่งโซนกันอยู่? ….อยู่ๆ ก็ได้ยินเสียงกริ่งประตู
พวกเราเดินออกไปดู พบว่ามีคนมาส่งของ เลยหน้ามึนเซ็นรับของไว้ให้ (มีวงเล็บว่าแทนด้วยนะ) พอเอาของเข้ามาเก็บ ถึงเพิ่งนึกออกว่า ถ้าของมาไม่ครบล่ะ ฉันมิต้องทำงานใช้หนี้หัวโตเรอะ!
นี่แหละหนอ…อุทธาหรณ์ของการทำก่อนคิด เอิ่ม…
“เป็นลำโพงครับ ขอบคุณมาก” อังเดรบอกเมื่อกลับมา ค่อยโล่งอกหน่อย ของครบ
บ่ายนี้อีเลน่าทำรีซอตโตและคีชผักโชม อาหารหวานคือเครปกล้วยซึ่งทำเป็นพิเศษให้ เพราะเมื่อคืนอังเดรได้ยินแว่วๆ ว่าก้อยชอบกล้วยหอมมาก … ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละ ที่ทำให้ฉันยิ้มเสมอเมื่อนึกถึงที่นี่
ปริมาณอาหารในแต่ละจานมากมายมหาศาลเช่นเคย สารภาพว่าฉันกินไม่หมด และอดใจไม่ไหว หลังมื้อจึงแอบถามอังเดรเสียงเบา
“ถ้าฉันกินอาหารไม่หมดจะเป็นไรไหม” ซุบซิบเหมือนกำลังซุ่มจับผู้ร้ายข้ามแดน กลัวอีเลน่าได้ยินสุดๆ
“คนอื่นเป็นไงไม่รู้ แต่บังเอิญผมถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวหัวเก่า ที่ต้องเสิร์ฟอาหารปริมาณมากให้แขก เพื่อแสดงว่าเรามีกินอุดมสมบูรณ์…” อังเดรบอก
“มาก” ที่พูดถึงนี่หมายถึงต้องมากเกินกินกันเลยทีเดียว มิน่าล่ะ…อาหารแต่ละจานถึงได้ฮึ่มขนาดนั้น
แต่คำพูดถัดมาของอังเดร ทำให้ฉันโล่งอก “คุณไม่จำเป็นต้องกินหมด ไม่มีปัญหาเลย”
โอ…น่าจะบอกกันก๊อนนนนน! ฉันจะได้ไม่ต้องพยายาม “ยัด” อาหารทั้งหมดลงท้อง จนแทบจะกลิ้งลงเขากลับไปที่สถานีรถไฟได้อยู่แล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้วันนี้ นอกจากสถานที่จะทำให้วัฒนธรรมการกินแต่ละพื้นที่ต่างกันแล้ว สิ่งที่สืบทอดกันมาในแต่ละครอบครัวก็มีส่วนทำให้แตกต่างด้วยเช่นกัน
