นักเรียนโข่ง

เรื่องเล่าจาก The Bread Room ตอน 1: นักเรียนโข่ง

dscf4149

กลับไปเป็นนักเรียน ตอน 40 ยังแจ๋ว

สิ่งนึงที่คิดว่าจะทำ เมื่อรู้ว่าจะย้ายมานิวยอร์กก็คือการ “เรียนอะไรสักอย่าง”
ไม่ใช่ขยันอะไรนะ แต่บูกรอกหูไม่เช้าก็เย็น “คนอื่นเค้าข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนกัน ไหนๆเราอยู่นี่แล้ว ทำไมไม่หาไรเรียนซะ”

หึ…คงกลัวฉันเบื่อ จนตั้งตารองับหัวเธอตอนเลิกงานสิท่า

ก็เลยนั่งคิด นอนคิด ยืนคิด เอาเท้าก่ายหน้าผากคิด…หาข้อมูลคอร์สอะไรต่ออะไรอยู่พักนึงอะ…เรียนคราฟท์ดีไหมนะ โอ๊ยมีให้เลือกเยอะตาลาย หรือเรียนซุมบ้าจะได้เชฟบ๊ะดีจริงๆ ที่อยากสุดคือเรียนพวกศิลปะบำบัด แต่ดูจะยากไป (ขี้เกียจท่องศัพท์ กร๊ากกก) ก็ยังลังเลลอยชาย ตัดสินใจไม่ได้ บวกกับช่วงนั้นต้องหาซื้อของเข้าอพาร์ทเมนต์ ชีวิตยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไร จนเวลาผ่านไป 2-3 เดือนละ วันนึงเราสองคนเดือนผ่านรร.สอนทำอาหารแห่งนึงแถว Soho

“เมื่อก่อนชื่อ The French Culinary Institute ตอนนี้เค้าเปลี่ยนชื่อแล้ว ก็เป็นอีกรร.ทำอาหารที่เชื่อถือและเปิดมานาน” บูพูดขึ้นลอยๆ…(เฮ้…เธอเป็นวิกกี้เคลื่อนที่รึไง?)

นั่นแหละคือจุดเริ่มต้น มันทำให้นึกถึงครั้งนึงตอนบูไปทำงานลอนดอนเดือนนึง เราเคยคิดจะลงเรียนคอร์สทำขนมปังสั้นๆ ที่กอร์ดองเบลอ แต่ด้วยค่าเรียนแสนแพงเลยงกไงไม่ยอมเรียน(ตอนนั้นจึงใช้เวลาทั้งหมดในการหาข้อมูลเขียนหนังสือ Lovely London แทนแหะแหะ) แต่มาวินาทีนี้ ถ้าเทียบระหว่างทุกๆ คอร์สที่ผ่านตา เราคิดว่าเราอยากเรียนทำขนมปังที่สุดแล้ว

ทำไมเหรอ? เราเป็นพวกชอบแป้ง ชอบข้าว ชอบขนมปังทุกแบบ ทั้งขนมปังนุ่มนิ่มแบบเอเชีย ทั้งแบบแผ่นหรือสอดไส้ รวมถึงขนมปังซาวโดว์ดึ๋งๆ แบบฝรั่ง บาเกตต์ บริออช โรลล์ต่างๆ ชอบกินหมด และพอมาอยู่ตปท.แล้ว การกินขนมปังเป็นอาหารเช้าคือกิจวัตรเพราะมันหาง่าย อร่อย พวกซาวโดว์เอามากินกับชีส แฮม แยม เนย ครีม มันอร่อยไม่แบนแฟนติดเพดานปากเหมือนขนมปังแซนวิชจากโรงงาน(ที่ใช้มาการีนแทนเนยจริงงิ!)

นั่นแหละ…ชอบ…เลยพยายามหัดทำ แต่ไม่เวิร์ก! ทำเท่าไรรู้สึกไม่อร่อยเท่าที่ซื้อจากร้าน ทำเท่าไรก็เหมือนไปไม่สุด  มันคือ myth ที่ยังไม่กระจ่าง ว่าการนวดแป้งที่ถูกวิธีทำไง การเช็คหน้าต่างโดว์ การเลี้ยง sourdough หรือยีสต์ธรรมชาติมันยากง่ายแค่ไหน ขนมปังที่ดีมันต้องทำยังไง

ที่สำคัญสุดคืออยากรู้ ว่าการทำขนมปังดีๆ ทีละกระตั้ก เป็นสิบๆก้อน ไม่ใช่แค่ทีละก้อนสองก้อนเนี่ย เขามีระบบจัดการยังไง คือด้วยใจคิดว่าถ้ากลับไทยก็อยากได้ทำอะไรที่รักและเป็นอาชีพ … และถ้าอยากทำเป็นอาชีพก็ควรเคารพลูกค้า ด้วยการรู้ซึ้งและเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าแค่ดูจากเน็ตแล้วตุ๊ต๊ะว่ารู้ทุกอย่าง เปิดร้านเลยอะไรแบบนี้ คือเวย์นี้มีคนที่ทำได้ดีก็มีเยอะนะ แต่กับขนมปังมันควรจะต้องสัมผัสโดว์ที่ดีด้วยไม่ใช่เหรอ ถึงจะรู้ว่าที่ถูกต้องเป็นยังไง

แต่ปัญหาเดิมก็วนเวียนในหัวทุกชั่วโมงยาม….ค่าเรียนแพงโคตตตตตต!!!
แพงจนต้องกลับมาเอาเท้าก่ายหน้าผากคิดใหม่อะ หรือจะเอาเงินค่าเรียนไปลงทุนซื้อแป้งมา 3 คันรถแล้วหัดทำไปเรื่อยๆ ดีฟระ (นี่เอ็งกลับคำภายใน 2 พารากราฟ???)

คือคิดหนักอิดออดอยู่พักนึงเลยนะ จนวันเปิดเรียนใกล้เข้ามา เราก็ยังไม่ขยับ เซลล์ทั้งโทร.และเมลมาตาม ถึงขั้นว่าบูต้องลุกขึ้นมาผลักดัน (นี่เธอกลัวฉันจ้องงับคอเธอจริงๆ ใช่มะ)
“มันเป็นคอร์สที่ได้ diploma นะ เหมือนได้เพ็ดดีกรีไง” เอ๊ะยังไง!
“เรียนช่วงนี้ดีนะ ได้ลดตั้ง 3 พันเหรียญ เรียนช่วงอื่นเค้าได้ลดกันที่ไหน” ก็จริง…ลดไปเป็นแสน!
“บ้านเรามีเตา kitchenaid ก็ซื้อมาแล้ว หาซื้อวัตถุดิบอะไรก็ง่าย น่าสนใจออก” นางยังพยายาม
“เรียนที่อื่น จะไม่รู้วิธีทำขนมปังทีละเยอะๆ นะ” อืมก็ใช่ เราอยากกลับไปเปิดกิจการร้านขนมปังน้อยๆ นี่นา เราควรศึกษาการผลิตขนมปังทีละแยะๆ อย่างมีระบบระเบียบไม่ใช่เหรอ

เอาเป็นว่าด้วยแรงผลักดัน บวกกับแรงกระหายภายใน (และเพื่อนสาวที่ยืนกรานว่า เออ แกชอบขนมปังจริงๆ เรียนไปเหอะ) ก็ทำให้ตัดสินใจเรียน! แต่กว่าจะตัดสินใจได้ก็ปาเข้าไปแค่ 3 วันก่อนเปิดคอร์ส จ่ายเงินค่าเรียนด้วยมืออันสั่นเทาก่อนวัน Orientation วันเดียว (แต่ก็ทำให้ได้รู้ว่าระบบเอกชนนี่มันง่ายและยืดหยุ่นมาก จะตัดสินใจมาเรียนวันเริ่มเลยก็ยังได้นะคิดว่า)

 

ปฐมนิเทศ

โรงเรียนนี้เป็นแนวเดียวกับกอร์ดองเบลอ(ไม่รู้จะยกตัวอย่างอะไรให้เห็นภาพชัดๆ) คือเน้นสอนเทคนิคการทำอาหารจริงจัง สำหรับคนต้องการทำอาชีพสายอาหารและเบเกอรี่ ไม่ใช่ออกแนวเวิร์กช็อปตามร้านขายอุปกรณ์ทำอาหารที่ส่วนใหญ่มักเป็นพวกแม่บ้านมาลงเรียนกัน (อ้าว…เรานี่หว่า?)

คลาสขนมปังของเรากินเวลา 2 เดือน เรียนจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 8 โมงเช้า – บ่ายสาม รวมวันละ 7 ชม.เลยนะเฟร้ย!!! (สารภาพเลยว่าการเรียนหนัก ไม่ทำให้หนักใจเท่าการต้องตื่นเช้าแต่ไก่โห่) ส่วนคลาสทำอาหาร/เพสตรี้ที่นี่เขาเรียนกัน 6-9 เดือนเลยนะ เคยส่องเข้าไปเห็นแต่ละคนมีสเตชั่นเตาของใครของมัน อุปกรณ์เต็มเซ็ต(พวกมีด)ต้องสะพายขึ้นหลังเข้าห้องเรียนทุกวัน ดังนั้นระบบจัดการเค้าเหมือนโรงเรียน ที่มีการปฐมนิเทศก่อนเรียน 1 วัน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจหลักสูตร ระบบการเรียน และชีวิตในโรงเรียนที่กำลังจะเริ่มต้นในวันพรุ่งนี้

รู้สึกตื่นเต้นเหมือนเด็กอนุบาลเข้ารร.วันแรกเลยอะ สะพายเป้ แต่งกายเรียบร้อย หน้าตาตื่นๆ งุนงงกับสภาพแวดล้อมใหม่ ตอนเดินขึ้นไปชั้นปฐมนิเทศนี่ใจตุ๊มๆ ต่อมๆเกียมใจไว้ละว่าตรูแก่สุดแน่!

ภาษาอังกฤษรึ…ใช่ว่าจะปร๋อมาก แค่พอกล้อมแกล้มอ้อมแอ้มไป ฟังอะรู้ แต่เวลาพูดกลัวคนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง แล้วฉันจะเข้ากับเด็กเพื่อนร่วมชั้นได้ไหมมมมมมมมม ยังไงคะยังไง้.งงงง…..งงง คำถามร้อยแปดผุดขึ้นในหมองเต็มไปหมด

ทว่าเมื่อเดินเข้าไปในห้องปฐมนิเทศ…อันแสนเงียบ…
โต๊ะกลางมีหญิงอเมริกันกลางคนนั่งอยู่ด้านนึง
อีกด้านนึงเป็นชายอาหรับหน้าตาไม่เด็ก
โต๊ะซ้ายมือคือหนุ่มผมทองตาสีฟ้าท่าทางอ่อนโยน หน้าตาเลยวัยเอ๊าะมาพักนึงเหมือนกัน อุ๊ย ยิ้มให้เดี๊ยนด้วย
…แค่นั้น…ข่ะ…
หมดแล้วเรอะ??!

เอิ่ม…น้อยจัง ไหนเซลล์บอกมี 9 คนไง(กลัวถูกโฟกัสตอนเรียน มีหลายคนจะได้กระจายความสนใจของครู) และยังไม่ทันหายตกใจ ก็มีผู้หญิงผมทองหน้าตาฝรั่งรัสเซีย กระหืดกระหอบมานั่งข้างๆ เรา แล้วสต๊าฟก็บอกว่านักเรียนอีกคนจะไม่มาปฐมนิเทศ เพราะเค้าเรียน culinary course อยู่แล้ว…สรุปว่าคลาสนี้เราจะมีกัน 6 คนสินะ

อิฉันมองไปรอบๆ ตัว โล่งอกไปเปลาะนึงว่าคลาสนี้มีแต่ผู้ใหญ่ ปัญหาแบบเด็กเบ๊าะแบ๊ะง้องแง้วทั้งหลายคงไม่มี (หารู้ไม่!) ก่อนนั่งสงบฟังการบรรยายเรื่องระบบเรียน ว่าคลาสนี้มีการสอบทุก 2 สัปดาห์ทั้ง written และ practical รวมทั้งหมด 4 ครั้ง มีการวัดผลเป็นกิจจะลักษณะเพื่อให้เกรดด้วย

รวมถึงกฎข้อห้ามต่างๆ ของการเรียนทำอาหารเช่น ห้ามใส่เครื่องประดับ ห้ามใส่เครื่องแบบมาจากบ้าน และรองเท้าต้องเป็นรองเท้าหนังสีดำพื้นยาง (งานเข้า…ก่อนกลับบ้านต้องแวะซื้อรองเท้าใหม่แล้วอะ ใครจะไปมีฟระรองเท้าแบบนั้นถ้าไม่ใช่นักเรียน หรือหนุ่มออฟฟิศ!) ที่ชอบสุดคือห้องสมุด ซึ่งสามารถยืมหนังสือคุ๊กบุ๊กทั้งหลายได้ตามสบาย มันเยอะมากๆ!

แล้วเค้าก็ให้แนะนำตัว …
“แนะนำชื่อเสร็จแล้วบอกด้วยนะว่า ล่าสุดเพิ่งไปกินอะไรอร่อยๆ มา”
เราตอบว่า Fried Clams ซึ่งเป็นหอยชุบแป้งทอดจากทริปบอสตันที่เพิ่งผ่านมาหยกๆ (อ่านที่นี่) และสต๊าฟคนนั้นก็กรี๊ดกร๊าดเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง จำคนอื่นไม่ได้ จำได้แต่ของลุงอาหรับ เค้าเพิ่งกินโดนัทจากร้าน ‘Doughnut plant’ มา (เป็นร้านดังร้านนึงในนิวยอร์ก) เราฟังแล้วหมายจะต่อความว่า โดนัทร้าน Dough ก็อร่อยนะ แต่สต๊าฟคนเดิมรีบชิงบอก “คนชอบคิดว่าโดนัทร้าน Dough อร่อยสุด แต่จะบอกให้นะว่าคิดผิด ที่ Doughnut plant อร่อยเทพกว่ามาก!”
เฮ้ยจริงดิ! ต้องลองอะ นางยืนยันขนาดนี้
จากนั้นบทสนทนาเรื่องโดนัทก็กินเวลาไปอีกพักใหญ่ เห็นได้ชัดเจนว่าพอพูดถึงเรื่องอาหารแล้ว นักเรียนทุกคนที่มาเรียนที่นี่คล้ายจะมีแพสชั่นเดียวกัน (คือเรื่องกิน) ดังนั้นอาหารจึงเป็นเหมือนภาษาสากลของที่นี่ทีทุกคนมีความชอบเหมือนกัน

หลังจบปฐมนิเทศ เราหอบกระเป๋าใบใหญ่ตัวเอียงกลับบ้าน ในนั้นมีเครื่องแบบ 3 ชุดที่ต้องใส่เรียนทุกวัน มีเซ็ตอุปกรณ์เรียนทำขนมปังคือ chef knife, parring knife, bread knife, digital scale, scrappers, และมีดสำหรับสกอร์บนโดว์ รวมถึงหนังสือเรียนเล่มนึง…พอถึงบ้านบูเอาเสื้อมาทาบบนตัวเราแล้วถ่ายรูป โพสต์บนเฟสบุ๊กว่า ‘Aenoi the chef’

แล้วชีวิตนักเรียนของเชฟเอ๋น้อยก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้…

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s