ซิดนีย์ไดอารี่ 1

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

บันทึกเที่ยวซิดนีย์ ตั้งแต่ตอนที่ออสซี่ดอลล่าร์ปาเข้าไปเหรียญละ 30 บาท! ดังนั้นถ้าข้อมูลจะเก่าบ้างก็ขออภัย
ทริปนี้เริ่มต้นด้วยการสวมวิญญานักวิ่ง 100 เมตร เนื่องจากพอลงเครื่องมาจวนเจียนจะถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง เพิ่งรู้ตัวว่า ลืมกล้องใหม่ถอดด้ามที่เพิ่งถอยจากสนามบินชางงี (สิงคโปร์) หมาดๆ ไว้บนเครื่อง!

วินาทีที่รู้คือหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูป แล้วนึกขึ้นได้ว่ากล้องตูล่ะอยูหนัยยยย!

จุดนั้นเปรียบเหมือนได้ยินเสียงปืนปล่อยตัวนักวิ่งดังกึกก้องกัมปทาน เอ๋น้อยพุ่งตัวราวกับลูกธนูหลุดจากแหล่ง ควบสุดฝีเท้าสวนกระแสธารของผู้คนที่หลั่งไหลจากเครื่องบิน 2 ลำที่แลนด์พร้อมกันพอดี สวนกับพวกแอร์ที่งวงช้างที่เพิ่งลงมา
เราหันไปบอก “ลืมของจ้ะ”
ลุงบอก “oh…that’s bad”
บทสนทนาจบตรงนั้น เมื่อสาวไทยซอยเท้าสุดฝีก้าวสั้นตุ่ยไปยังจุดหมายและ…โชคยังดีที่มันยังอยู่! (กราบฟ้าดินปะหลกๆ)

 

ตรวจคนเข้าเมือง

ออสเตรเลียเขาขึ้นชื่อเรื่องความเด็ดขาดของการห้ามเอาผักผลไม้ เนื้อสัตว์เข้าประเทศ ดังนั้นระหว่างรอแถวและมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเอกสารเข้าเมือง ถามว่ามีอาหารมาด้วยหรือไม่ เราตอบแบบออโต้ “ไม่มีจ้ะ” (กลัวเค้าจับ) แต่พอตอบแล้วกลับนึกขึ้นได้
“บู บิสคอตตี (คุกกี้กรอบๆ) เข้าประเทศได้ปะ?” ลืมไปว่าพกมาจากอิตาลีด้วย
“อืมม..” บูพยายามคิด
“เออ…แล้วเกาลัคเชื่อมอ่ะ ถือเป็นผลไม้ป้ะ?” ถามไปก็ปลอบตัวเองในใจว่าไม่เป็นไรหรอก เกาลัคเชื่อมมันหมดสภาพความเป็นผลไม้ไปนานแล้ว จัดอยู่ในหมวดขนมหวานต่างหาก เพราะเนื้อเกาลัคถูกน้ำตาลแทรกซึมจนหวานเชื่อมมมมมบาดคอ (ใจคิดว่าถ้าต้องสละเกาลัคเชื่อมจะเคืองจิตมาก เพราะซื้อมาลูกละ 1 ยูโร แน่ะแม่เอ้ย!)

เราค่อยๆ เดินกระดืบๆ ไปเรื่อยๆ ด้วยใจระทึก สุดท้ายแจ็คพ็อตเหมือนถูกหวย เพราะเจ้าหน้าที่เห็นคนยาวเกินเหตุ และคิวตรวจของคนออสซี่เองก็ไม่มีคนแล้ว เราเลยได้ไปต่อคิวใหม่ที่ไวกว่าเดิม แล้วทุกอย่างผ่านฉลุยฉุยแฉกสบายใจ ไม่มีการกักตัวเพื่อเอาเกาลัคเชื่อมแสนแพงของข้อยไปทิ้ง เย้!!!

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

 

จากสนามบินเข้าเมืองซิดนีย์

ออกจากเกต เราเลี้ยวขวาแวะซื้อซิมการ์ดตรงสนามบินเลย มีให้เลือกหลายเจ้า (ไม่ได้เขียนถึงเพราะคิดว่าข้อมูลเราคงเก่าไปแล้ว ตอนนั้นซื้อซิมละ 30 เหรียญ/10 วัน แต่ตอนนี้อาจจะถูกลง)

พอออกจากสนามบินให้เลี้ยวซ้าย เดินตามป้ายจะเจอ Taxi Stand ราคาเข้าเมืองอยู่ที่ราว 30 เหรียญ ใช้เวลาราว 45 นาที แต่ถ้าจะนั่งรถบัสจะต้องเปลี่ยนคัน ไม่เหมาะกับคนสัมภาระแยะ และคนที่กำลังเหม่อลอยนอนน้อยอย่างเจ้าบูและเรา หรือใครจะเลือกไปด้วยรถไฟเข้าเมืองก็ได้เช่นกัน (ไม่ได้เขียน เพราะน่าจะมีคนเขียนเยอะแล้ว)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

 

ที่พักในซิดนีย์

เราเลือกจาก airbnb.com เจ้าของห้องชื่อ Paul ซึ่งวันก่อนหน้าเรามีแขกพักอยู่ แต่โชคดีเขาจะยอมเช็คเอาท์เร็วเพราะเห็นว่าเรามาเช้ามาก (เครื่องลง 6.45 น.)

บอกตามตรงว่าเราดีใจมากที่เค้ากรุณา เพราะทริปนั้นเราเพิ่งเดินทางกลับมาจากอิตาลี ลงเครื่องที่สิงคโปร์แค่ 3 ชม.แล้วขึ้นเครื่องต่อมาซิดนีย์กับคุณบูเลย (โหดสุดอะ นั่งเครื่องติดกัน 2 วันครึ่ง) ดังนั้นสภาพกายหยาบดูไม่จืด ผมด้านนึงกระดกจากการใช้หน้ากากปิดตาและนอนทับ อีกด้านฟูสยาย น้ำมันในเส้นผมไม่ต้องพูดถึง พุ่งทะยานสู่จุดแม็กซิมัม ขณะที่หนังหัวแห้งกราว คลาสสิกเคสของการนั่งเครื่อง 2 วันติดต่อกันจริงๆ

ปัญหาหนักอีกอย่างของการนั่งเครื่องบินนานๆ ก็คืออาการปวดเข่า ตอนนั่งหรือลุกลงจากเครื่องอาจจะยังไม่รู้ แต่ไม่พ้นวันจะรู้สึกทันทีที่ยอบตัวลงนั่ง หัวเข่าจะแปล๊บบขึ้นมาเหมือนไฟฟ้าช็อต และจะเป็นแบบนั้นไปอีก 2-3 วันเลย

อ่ะกลับมาบ้านคุณ Paul ๆ นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่พอเข้าบ้านคนอื่นได้ เราไม่สนอีร้าคร่าอีรม ควานหาอุปกรณ์อาบน้ำ และเสื้อผ้าใหม่แล้วจ้ำพรวดเข้าไปในห้องน้ำโดยไม่แคร์สื่อ ทั้งที่ลุงพอล คนพักคนเก่าและเจ้าบูอยู่ในห้องทนโท่ และถึงกับต้องสระผม 2 รอบ เพราะรอบแรกฟองไม่ขึ้น! เสื้อผ้าใหม่ก็เหม็นกลิ่นเห็ดพอร์ชินีแห้งที่หิ้วหอบมาจากอิตาลี (เตือนว่าใครซื้อให้ห่อพลาสติกเยอะๆ ไม่งั้นกลิ่นมันตลบมาก เหมือนกลิ่นเสื้อผ้าเค็ม) ดังนั้นพอออกจากห้องน้ำได้เลยถามลุงพอลว่าจะซักผ้ายังไง แกบอกว่าสามารถใช้ที่ห้องแกได้เลย ว่าแล้วก็พาไปดูว่าอยู่ตรงไหน ใช้ยังไง ท่าทางไม่ยาก แค่เอาเสื้อเข้า กดเปิด แล้วรอ นี่แหละหนอข้อดีของการพัก airbnb (ที่อิฉันยังไม่เคยปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเลยสักหน)

และเนื่องจากความฉุกละหุกตอนเช็คอินนี้เอง ทำให้เราไม่ได้ถ่ายรูปห้องไว้ สนใจคลิกเข้าไปดูได้ที่ลิงก์ใน airbnb ของเค้าคลิกที่นี่เลย จากบ้านลุงเดินไปสถานี Central แค่ 10 นาทีและเป็นย่านที่สงบน่าอยู่

 

Glebe Market
at Glebe Public school

1 ชั่วโมงต่อมา เราสองคนพากันออกจากบ้านในสภาพสะอาดสดใส แม้สมองจะยังเบลอๆ อยู่บ้าง โดยมีจุดหมายอยู่ที่โรงเรียน กลี๊-บ ปกติคนซิดนีย์จะจัด flea market กันตามโรงเรียน

ถนนเส้นที่ตั้งของโรงเรียนกลิ๊บ มีร้านรวงน่าสนใจหลายร้าน รวมถึงร้านกาแฟกิ๊บเก๋ ร้านขายของมือ 2 ประเภทโต๊ะต่างตู้ จานชาม ถ้วยกาแฟ เราว่าถ้าตั้งใจมาน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชม. ในการเดินสำรวจร้าน หรือจะมานั่งทานกาแฟก่อนเข้าไปเดิน Glebe Market ยังได้

ตัวตลาดบางจุดที่กลางแจ้งก็มีเต็นท์ให้ บางจุดอยู่ใต้ร่มไม้ก็อาศัยร่มเงาเข้าที ข้าวของหลักๆ คือเสื้อผ้าสตรี หลากชนิดหลายรูปแบบ ทั้งของใหม่และวินเทจ รองเท้า เครื่องประดับ หมวก กรอบรูป ขายปะปนกับน้ำผึ้ง กำยาน หนังสือเก่า และอื่นๆ อีกมากมาย วันนี้ลมดีเดินสบาย เราได้หนังสือทำมือมา 1 เล่ม ส่วนเจ้าบูได้น้ำผึ้งมา 1 ขวด (หมีหรือคน?)

รายละเอียดวันเวลาจัดงานอัพเดต ดูได้จากลิงก์ของตลาดเองจ้ะ http://www.glebemarkets.com.au/

 

Tasting Menu ที่ Tetsuya’s

Tetsuya เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบ Tasting Menu คือเป็นญี่ปุ่นแบบเว่อวังอลังการ ซึ่งไม่เหมือนกับอาหารแบบไคเซกิตามเรียวกัง เพราะมีการเล่นสนุกกับอาหารมากกว่า เช่นทำโฟม เอาไนโตรเจนเหลวสาด หรือใช้วัตถุดิบฝรั่งมังค่ามาปรุงร่วมด้วย ขณะที่ไคเซกิจะเน้นอาหารแบบเทรดิชันนัลเน้นธรรมชาติสร้างสรรค์ไม่ค่อยแต้มเติม

อันที่จริงมื้อแรกไม่ควรเป็นอะไรที่หนัก (ทั้งท้องและกระเป๋า) แต่ด้วยความที่ร้านนี้มีโต๊ะไม่มาก และคนแน่นตลอด และตลอด 4 วันที่เราอยู่ซิดนีย์ วันนี้เป็นวันเดียวที่มีโต๊ะว่าง พอรู้แบบนี้ทำให้เรายิ่งอยากรู้ว่าจะเด็ดดวงสักแค่ไหน คุณบูผู้เป็นฟู้ดดี้ตัวยงก็ตั้งตารอเช่นกัน

ส่วนใหญ่ร้านที่ให้บริการ Tasting Menu จะบอกค่าอาหารต่อหัวไว้แต่แรก แต่ระหว่างทางอาจจะมีไวน์ที่ทานเข้าคู่กับอาหารแต่ละจาน (Wine Paring) ดังนั้นเตรียมใจไว้เลยว่า ค่าอาหารโดยรวมจะมากกว่าค่าอาหารต่อหัวอีกประมาณ 10-20%

สังเกตว่าคนส่วนใหญ่ที่มาในร้าน จะมาฉลองวาระโอกาสพิเศษกัน กินร้านแบบนี้ทีไรพนักงานมักถามเราเสมอ (เหมือนเป็นนโยบาย) ว่าวันนี้มาฉลองโอกาสพิเศษอะไรหรือไม่ เราเกือบจะแกล้งตอบว่าฉลองแต่งงานครบ 30 ปี ก็ใช่ที่ ฮา…

ความสนุกของการทานเทสติ้งเมนูก็คือการตื่นเต้นเมื่อเห็นสิ่งที่พนักงานมาวางตรงหน้า จากนั้นก็ฟังคำอธิบายว่า สิ่งนั้นคืออะไร มีส่วนประกอบเป็นอะไรบ้าง เพราะบางอย่างมันถูกแปรรูปย่อยสลาย จนแทบจำไม่ได้ว่าเป็นอะไร เช่นจานแรก Carrot Veloute with Ginger Foam หน้าตาดูจื๊ดจืด แต่พอตักเข้าปากเท่านั้น รักเต็มเปา! ซุปแครอทหวานหอมข้นเข้ม ติดกลิ่นขิงนิดๆ

สรุปมื้อนั้นหมดไป 555 เหรียญ (หัวเราะร่าน้ำตาซึม)

 

หมูน้อย

หมูน้อยเป็นเพื่อนสมัยมัธยมต้นของเรา สมัยนั้นเธอหล่อเหลา ผอมเพรียว เป็นหัวหน้าห้องผู้ขยันขันแข็ง แต่หลังจากจบแล้วก็ไม่เคยได้ติดต่อกันอีก จนกระทั่งวันหนึ่งที่เราต้องไปทำงานที่อุทยานแห่งชาติใกล้ๆ กับจังหวัดเลยที่หมูน้อยอยู่ เลยหยิบเฟรนด์ชิป (ใช่! เฟรนด์ชิปที่ให้เพื่อนๆ เซ็นกันอะ!!! มีจริงนะขอบอก) ออกมาไล่หาเบอร์ แล้วก็เจอจนได้! เราเลยนัดเจอกันและแลกเบอร์กัน ตั้งแต่นั้นมาก็ยังติดต่อกันเป็นระยะ จนกระทั่งหมูน้อยมาขุดทอง (ฮ่าๆๆ) ที่ออสเตรเลีย ถือเป็นเพื่อนม.ต้นคนเดียวที่ยังคุยกันอยู่

พูดถึงคนไทยที่มาอยู่ออสเตรเลีย โดยเฉพาะซิดนีย์นี่ช่าง…แยะเหลือเกิน ระหว่างเราเดินไปตามถนน ไม่คิดสักนิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อย เพราะทุกคนล้วนมีผมดำ ตาตี่ พูดภาษาที่ไม่ใช่อังกฤษ (เช่นจีน ไทย เกาหลี) ไม่น่าเชื่อว่าที่นี่เป็นประเทศที่มีการเหยียดผิวกันมาก ทั้งที่คนเอเชียก็อยู่กันตรึม

ตอนนี้หมูน้อยเป็นเชฟในเครือโรงแรม อยู่ออสเตรเลียมาหลายปี มีแฟนเป็นสาวไต้หวันชื่อฟ้า ทั้งคู่คบหากันมานานมากก และหมูน้อยก็ตั้งใจจะปักหลักอยู่ออสเตรเลียต่อไปเพราะ…ไม่รู้จะกลับมาทำอะไรที่เมืองไทย (อืม….)

สมัยยังสาว อิเมียก็เคยอยากไปทำงานหาประสบการณ์เมืองนอกอยู่เหมือนกัน จะที่ไหนก็ได้ จะล้างจานก็ไม่หวั่น ขอให้ฉันได้ไปเจอ ไปเห็น ไปพบอะไรใหม่ ได้เรียนรู้ภาษา ได้มองหาช่องทางให้กับอนาคตข้างหน้า เพราะสิ่งที่กำลังเห็นและทำอยู่ ดูเหมือนจะไม่มีวันไปไกลกว่านี้ได้

แต่หลังจากได้เดินทาง ได้เห็นโลกในอีกแง่มุมหนึ่งที่ตัวเองไม่เคยมีโอกาสเห็น ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันหลากหลายและแตกต่างของชาติต่างๆ ได้ตระเวนกินอาหาร ท่องเที่ยว ไปทั่ว จึงเริ่มเข้าใจว่าไม่มีที่ไหนจะสุขใจและทำให้เรามีความสุขได้มากกว่าประเทศไทยอีกแล้ว

วันนั้นเจอหมูน้อยแว้บเดียว ก่อนเราจะแยกไปตลาด Peddington

 

Paddington Market

เป็นตลาดที่อ่านเจอ ก็เลยแวะไปดูกัน สนุกดี ตลาดไม่ใหญ่มาก แต่น่าสนใจไม่น้อย รายละเอียดวันเวลาจัดงาน ดูได้จากลิงก์ของตลาดเองเล้ยย http://www.paddingtonmarkets.com.au

 

วันแรกในซิดนีย์ของเราจบลงที่การกินอาหารเย็นแบบออสซี่ที่อร่อยดีเหมือนกัน แต่ความง่วงจากากรเดินทางอันยาวนาน ไม่พอยังเดินตะลอนๆ ทั้งวัน ทำให้อยากกลับไปนอนมากกว่า จำได้ว่าคืนนั้นหลับเป็นตาย!!!

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s